การพยาบาลผู้คลอดภาวะมดลูกเจริญผิดปกติแต่กำเนิดที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อของเยื่อหุ้มทารกหรือถุงน้ำคร่ำที่ได้รับการผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด: กรณีศึกษา
คำสำคัญ:
ภาวะมดลูกเจริญผิดปกติแต่กำเนิด, ภาวะถุงน้ำคร่ำรั่ว, การอักเสบติดเชื้อของเยื่อหุ้มทารก, และการคลอดก่อนกำหนด ผ่าตัดคลอดบทคัดย่อ
บทนำ: ภาวะมดลูกเจริญผิดปกติแต่กำเนิด จัดเป็นภาวะเสี่ยงสูงในการตั้งครรภ์ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ สำหรับภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนด โดยเฉพาะในรายที่มีอายุครรภ์ < 34 สัปดาห์ ถือว่าเป็นภาวะที่ซับซ้อนและเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดการคลอดทารกก่อนกำหนด และการอักเสบติดเชื้อของเยื่อหุ้มทารกหรือถุงน้ำคร่ำ นำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ จุดมุ่งหมายของการรักษา คือ การยืดอายุครรภ์และป้องกันการอักเสบติดเชื้อ โดยการรักษาแบบประคับประคอง มุ่งหวังให้ทารกในครรภ์มีความสมบูรณ์มากที่สุด แต่เมื่อมีภาวะการอักเสบติดเชื้อของเยื่อหุ้มทารกหรือถุงน้ำคร่ำ แพทย์จำเป็นต้องพิจารณายุติการตั้งครรภ์โดยการผ่าตัดคลอด เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตทั้งมารดาและทารกในครรภ์
วิธีการศึกษา: ศึกษาการพยาบาลผู้คลอดภาวะมดลูกเจริญผิดปกติแต่กำเนิดที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำรั่ว ร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อของเยื่อหุ้มทารกหรือถุงน้ำคร่ำ ที่ได้รับการผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด 1 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสระบุรี เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์ สังเกต และข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วย แล้วนำมาวิเคราะห์ กำหนดข้อวินิจฉัยการพยาบาล ระบุกิจกรรมการพยาบาลและ ประเมินผล ตามกระบวนการพยาบาล
ผลการศึกษา: พบว่าผู้คลอดมีภาวะมดลูกเจริญผิดปกติแต่กำเนิด ชนิด Bicornuate เมื่อทารกมีการเจริญเติบโต จึงชักนำให้เกิดภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วและมีการอักเสบติดเชื้อของเยื่อหุ้มทารกตามมา นำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์ คลอดทารกก่อนกำหนด ปัญหาที่พบระยะหลังคลอดที่สำคัญ ได้แก่ เสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด การติดเชื้อในโพรงมดลูก วิตกกังวลเกี่ยวกับบุตรที่ต้องแยกจากมารดาและการเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา หลังได้รับการวางแผนให้การพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้คลอดสามารถกลับมามีร่างกายแข็งแรงและปรับบทบาทมารดาที่มีทารกคลอดก่อนกำหนดให้นมมารดาได้แม้จะต้องแยกจากทารกที่รักษาตัวในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก โดยผู้คลอดได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล 14 วัน แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ ส่วนบุตรหลังจาก off ventilator สามารถหายใจเองได้ และดูดนมมารดาได้ดี แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้าน รวมอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาล 32 วัน
บทสรุป: การพยาบาลผู้คลอดภาวะมดลูกเจริญผิดปกติแต่กำเนิดที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อของเยื่อหุ้มทารก ที่ได้รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องก่อนกำหนด พยาบาลมีส่วนสำคัญในการค้นหาปัญหา ความเสี่ยง ตั้งแต่ระยะฝากครรภ์ ระยะรอคลอด ขณะคลอดและหลังคลอด จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีในการประเมินภาวะสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ สามารถคาดการณ์ความเสี่ยง ช่วยให้การวางแผนการรักษามีความรวดเร็ว ทันเวลา มีประสิทธิภาพ ช่วยให้มารดาและทารกมีความปลอดภัย ครอบครัวมีความมั่นใจ บรรลุเป้าหมายลูกอยู่รอดแม่ปลอดภัย และช่วยให้การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลมีความยั่งยืน
References
Chan YY, Jayaprakasan K, Zamora J, Thornton JG, Raine-Fenning N, & Coomarasamy A. The prevalence of congenital uterine anomalies in unselected and high-risk populations: a systematic review. Hum Reprot Update. 2011;17(6):761-71.
Venetis CA, Papadopoulos SP, Campo R, Gordts S, Tarlatzis BC, Grimbizis GF. Clinical Implications of congenital uterine anomalies: a meta-analysis of comparative studies. Reprot Biomed Online. 2014;29(6):665-83.
คณะอนุกรรมการอนามัยแม่และเด็ก พ.ศ. 2556-2558 และ คณะอนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556-2558. แนวทางเวชปฏิบัติของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การดูแลรักษาภาวะ เจ็บครรภ์คลอด และถุงน้ำครั่วก่อนกำหนด. 2558;1-29.
เทวินทร์ เดชเทวพร. ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด อีกหนึ่งภาวะครรภ์เสี่ยงที่คุณควรรู้. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2565. สืบค้นจาก https://www.bccgroup-thailand.com
Venkatesh KK, Jackson W, Hughes BL, Laughon MM, Thorp JM, & Stamilio DM. Association of chorioamnionitis and its duration with neonatal morbidity and mortality. J Perinatol. 2019;39 (5):673-82.
งานเวชระเบียนและสถิติ โรงพยาบาลสระบุรี. สถิติผู้ป่วยในโรงพยาบาลสระบุรี ประจำปี 2563-2565. โรงพยาบาลสระบุรี. 2563-2565.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2022 โรงพยาบาลสิงห์บุรี
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของโรงพยาบาลสิงห์บุรี
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลสิงห์บุรี และบุคคลากรท่านอื่นๆในโรงพยาบาลฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว