การพยาบาลผู้ป่วยถูกงูเห่ากัดร่วมกับมีภาวะหายใจล้มเหลว : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • นัฏฐา พุ่มมาก กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

บทคัดย่อ

กรณีศึกษาผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 69 ปีเข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง วันที่              18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ด้วยอาการสำคัญ ซึม ชาทั่วตัว หนังตาตก มีรอยเขี้ยวที่เท้าข้างขวา จากถูกงูเห่ากัด ก่อนมาโรงพยาบาล 30 นาที แพทย์วินิจฉัย งูเห่ากัดร่วมกับมีภาวะหายใจล้มเหลว (Cobra bite with  respiratory failure) ปัญหาที่พบในระยะวิกฤต ผู้ป่วยมีภาวะการหายใจล้มเหลว ได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ แก้พิษงูโดยให้ยาเซรุ่ม หลังจากผู้ป่วยได้รับยาเกิดอาการแพ้ มีผื่นแดงขึ้นทั่วตัว แก้ไข หยุดการให้ยา เฝ้าระวังภาวะช็อกจากการแพ้  (Anaphylactic shock) ติดตามการทำงานของไต ผู้ป่วยมีอาการปวดแผล  และเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่บาดแผล ให้การบำบัดความปวดและดูแลบาดแผลอย่างถูกวิธี ไม่พบการติดเชื้อ หลังรับไว้ดูแล 48 ชั่วโมง วางแผนหย่าการใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยถอดท่อช่วยหายใจได้ เริ่มรับประทานอาหารเหลว อาหารอ่อนได้ตามลำดับ ผู้ป่วยหน้าตาสดชื่นขึ้น หายใจสม่ำเสมอดี ไม่เหนื่อยหอบ สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่พบการติดเชื้อที่บาดแผล วางแผนจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน อธิบายการดูแลสุขภาพตนเอง การทำแผลต่อที่สถานบริการใกล้บ้าน การป้องกันการถูกงูกัดซ้ำ รวมระยะเวลาที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนาน  6 วัน จากการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

บทบาทของพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดูแลรักษาพยาบาลการช่วยเหลือผู้ป่วยถูกงูเห่ากัดในภาวะวิกฤต เมื่อผู้ป่วยมีภาวะการหายใจล้มเหลว การให้สารต้านพิษงู และการดูแลบาด ซึ่งกระบวนการพยาบาลต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหาของผู้ป่วย ครอบคลุม ทั้งร่างกายและจิตใจ  ดังนั้นพยาบาลต้องมีความรู้และพัฒนาทักษะ ความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยและดำรงชีวิตได้ตามปกติ

เผยแพร่แล้ว

10-10-2022