การพยาบาลผู้ป่วยตั้งครรภ์นอกมดลูกที่มีภาวะช็อค : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • วไลรัตน์ ห้วยธาร กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

บทคัดย่อ

กรณีศึกษาผู้ป่วยหญิงไทย อายุ25 ปี เข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยสูตินรีเวชกรรม วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558 ด้วยอาการสำคัญ ปวดท้องน้อยข้างขวามาก มีเลือดสดออกทางช่องคลอด ก่อนมาโรงพยาบาล 1 ชั่วโมง ตรวจ Ultra-sound abdomen พบท่อนำไข่ข้างขวาแตก (Rupture right tubal pregnancy) ได้รับการผ่าตัด Exploratory laparotomy Right salpingectomy Abdominal lavage ปัญหาที่พบในระยะก่อนผ่าตัด คือ มีภาวะช็อคเนื่องจากความไม่สมดุลของสารน้ำและเกลือแร่ ประสิทธิภาพการหายใจบกพร่อง ไม่สุขสบายเนื่องจากปวดท้อง และมีความวิตกกังวลต่อการผ่าตัด หลังผ่าตัดยังเสี่ยงต่อภาวะช็อคซ้ำ ได้ให้การพยาบาลควบคุมสารน้ำ บริหารยาเพื่อแก้ไขภาวะช็อค จนปลอดภัย หลังผ่าตัด ผู้ป่วยมีอาการปวดแผล และเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่บาดแผล ให้การบำบัดความปวดและดูแลบาดแผลอย่างถูกวิธี ไม่พบการติดเชื้อ ติดตามภาวะวิตกกังวลโอกาสตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ไม่เกิดอาการซึมเศร้า วางแผนจำหน่ายกลับบ้าน ให้ความรู้การปฏิบัติตัว การสังเกตความผิดปกติ สามารถจำหน่ายผู้ป่วยได้รวมระยะเวลาที่รักษาในโรงพยาบาลจำนวน 5 วัน จากการติดตามผลผู้ป่วยมาตรวจตามนัด ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ และได้รับการวางแผนครอบครัว ก่อนการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
บทบาทของพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยในระยะวิกฤต ทั้งระยะก่อนช็อค ระยะช็อค และระยะหลังช็อค เพราะแต่ละระยะสามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยได้แก่ ไตวายเฉียบพลัน แผลติดเชื้อ ดังนั้นพยาบาลต้องมีความรู้และพัฒนาทักษะ ความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติการพยาบาลที่สอดคล้องกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยและพึงพอใจ

เผยแพร่แล้ว

10-10-2022