การพยาบาลผู้คลอดที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษวิกฤติร่วมกับมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดและมีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรงกับภาวะหัวใจล้มเหลว

ผู้แต่ง

  • เสาวณีย์ พรประภา โรงพยาบาลโคกสำโรง

บทคัดย่อ

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษวิกฤติร่วมกับมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดและมีภาวะพิษแห่งครรภ์ชนิดรุนแรงกับภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะเสี่ยงสูงที่อันตรายต่อชีวิต อาจเกิดความพิการแก่มารดาและทารก สามารถพบได้ในทุกระดับของสถานบริการ ผู้เขียนจึงได้นำเสนอบทความนี้เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับทีมสหวิชาชีพทางด้านสุขภาพ เพื่อให้มารดาและทารกได้รับความปลอดภัย กรณีศึกษา หญิงไทยอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ประวัติ ไทรอยด์เป็นพิษ ขาดการรักษา 3 ปี ฝากครรภ์ 1 ครั้งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาด้วยเจ็บครรภ์คลอด ปากมดลูกเปิด 7 เซนติเมตร ชีพจร 150 ครั้ง/นาที เหนื่อย ค่าความอิ่มตัวออกซิเจนของฮีโมโกบิลจากชีพจร (Oxygen saturation) 95 % ความดันโลหิต 162/130 มิลลิเมตรปรอท มีอาการมึนศีรษะ สูติแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid) ร่วมกับภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง (Severe preeclampsia) และมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor pain) เกิดการคลอดเร็วทางช่องคลอดหลังรับนอนโรงพยาบาล 20 นาที ทารกปลอดภัยดี น้ำหนัก 2,310 กรัม มารดาเกิดความรุนแรงของพยาธิสภาพและภาวะแทรกซ้อนอย่างรวดเร็ว สูติแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษวิกฤติ (Thyroid storm) ร่วมกับภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรงกับภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งต่อโรงพยาบาลบ้านหมี่  เนื่องจากแผนกผู้ป่วยหนักเตียงเต็ม จากกรณีศึกษาผู้ศึกษาได้วินิจฉัยการพยาบาลเป็น 3 ระยะ คือ ในระยะก่อนคลอด ระยะคลอด และระยะหลังคลอด ผลจากการพยาบาลพบว่า ผู้คลอดได้รับการเฝ้าระวังสัญญาณเตือนภาวะเสี่ยงจากพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ได้ประสานเพื่อแก้ไขภาวะวิกฤติจากทีมอย่างรวดเร็ว จากการให้ข้อมูลแก่ผู้คลอดซึ่งรู้ตัวตลอดเวลาและญาติถึงเรื่องการพยากรณ์โรค แนวทางการรักษาพยาบาลจากสูติแพทย์ และพยาบาล โดยแจ้งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้คลอดเข้าใจและร่วมมือในการดูแลตลอด ส่งต่ออย่างปลอดภัย ถอดท่อช่วยหายใจ (Off Endotracheal tube) อีก 2 วันต่อมา แพทย์อนุญาตกลับบ้านหลังรับนอนโรงพยาบาล 6 วัน สามารถดำรงชีวิตที่บ้านอย่างปกติสุข  และรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษต่อเนื่อง

เผยแพร่แล้ว

10-10-2022