การดูแลผู้สูงอายุระยะยาวและแนวทางบูรณาการของตำบลวิหารขาว อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี

ผู้แต่ง

  • รัตนา ตรีสาร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวและแนวทางบูรณาการในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของตำบลวิหารขาว กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ตัวแทนผู้สูงอายุ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว มีคุณลักษณะ คือ พูดคุยรู้เรื่อง อยู่ในกระบวนการของการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และยินยอมเข้าร่วมกระบวนการวิจัย จำนวน 45 คน จากจำนวนผู้สูงอายุและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุทั้งหมด 129 คน โดยใช้แบบสอบถามมีโครงสร้าง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม และการสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

            ผลการวิจัยพบ ว่า 1) บริบทตำบลวิหารขาว เป็นพื้นที่เล็ก ประชากรน้อย มีองค์ประกอบของโครงสร้างทางสังคมค่อนข้างสมบูรณ์ และเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ 2) การดูแลผู้สูงอายุระยะยาวแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง (ร้อยละ 10.09, 9.64 และ 1.35 ตามลำดับ) มีวิธีการดูแลที่แตกต่างกันตามบริบทของผู้สูงอายุรายกลุ่มและรายกรณีมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการที่จำเป็นของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้าน กาย จิต สังคม โดยมีทีมผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการหรือกิจกรรมการดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหาของกลุ่มผู้สูงอายุภายใต้ วัฒนธรรม “คนวิหารขาวไม่ทิ้งกัน” สำหรับผลการดูแล ในระเวลา 1 ปี พบว่า กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน ทุกคน ยังคงภาวะสุขภาพ ไม่มีภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มขั้น ในส่วนของกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง พบว่า มีการตาย หาย คงเดิม อย่างละเท่าๆ กัน คือ หายจากภาวะติดเตียง 2 คน (ดำรงชีวิตได้ปกติ 1 คน ช่วยเหลือตัวเองได้แต่ติดบ้าน 1 คน) อาการคงเดิม 2 คน และเสียชีวิต 2 คน 3) แนวทางการบูรณาการ พบว่า การบูรณางานต่างๆ เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีความคิดเชิงระบบและใช้กระบวนการมีส่วนร่วม การสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว

            ข้อเสนอแนะ 1) นำผลการศึกษาที่ได้ มาสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งผู้ปฏิบัติและผู้สนใจเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานจากวิธีคิดเชิงระบบ การมีส่วนร่วมและการสร้างความร่วมมือ “จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ” 2) ควรมีการวิจัย เรื่องการเตรียมตัวสู่การสูงวัยในพื้นที่ของจังหวัดเพื่อทำความเข้าใจกับประชากรส่วนใหญ่ที่กำลังจะเป็นผู้สู่อายุว่าควรมีการเตรียมตัวอย่างไร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการเตรียมการอย่างไร

เผยแพร่แล้ว

10-10-2022