แรงจูงใจและความพึงพอใจในการทำงานของข้าราชการ สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี

ผู้แต่ง

  • ยุพิน ปานเดช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการเชิงพรรณา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแรงจูงใจและความพึงพอใจในการทำงาน และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับแรงจูงใจและความพึงพอใจในการทำงานของข้าราชการสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามประเมินแรงจูงใจ ขวัญกำลังใจ และความพึงพอใจในการทำงานของบุคลากรสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มตัวอย่าง คือ ข้าราชการสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี โดยผู้วิจัยได้แจกแบบสอบถามให้กับข้าราชการทั้งหมด จำนวน 1,344 คน มีผู้ส่งแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนกลับคืนจำนวน 924 คน คิดเป็นร้อยละ 68.75 ของข้าราชการสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรีทั้งหมด ดำเนินการวิจัยระหว่างเดือน ตุลาคม 2557 – เดือน กันยายน 2558

            ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 72.08 และมีอายุในช่วง 41-50 ปี  ร้อยละ 33.87 ระยะเวลาในการปฏิบัติงานในช่วง 21-30 ปีร้อยละ 35.61 อยู่ในสายงานกลุ่มการพยาบาล ร้อยละ 72.08 ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 35.71 ผลการประเมินแรงจูงใจและความพึงพอใจในการทำงาน พบว่า แรงจูงใจในการทำงานในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.37) เมื่อจำแนกรายด้านพบว่า แรงจูงใจในการทำงานของบุคลากรสูงที่สุด คือ ด้านความยอมรับนับถือจากผู้ร่วมงาน/ผู้บริหารและด้านการบริหารงานที่เป็นธรรม (ค่าเฉลี่ย 2.56) รองลงมาคือ ด้านภาระงานที่เหมาะสม (ค่าเฉลี่ย 2.54 ) ตามลำดับ สำหรับระดับความพึงพอใจในการทำงานในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.31) เมื่อจำแนกรายด้านพบว่า ความพึงพอใจในการทำงานของบุคลากรสูงที่สุด คือ ด้านความสำเร็จในงานที่ปฏิบัติ  (ค่าเฉลี่ย 2.62) รองลงมาคือ ด้านหน้าที่ความรับผิดชอบ (ค่าเฉลี่ย 2.55) ด้านนโยบายการพัฒนาบุคลากร/งาน และด้านการบริหารงานที่เป็นธรรม (ค่าเฉลี่ย 2.49) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาด้านที่ต้องการให้พัฒนา(Gap) มากที่สุด คือ ด้านรายได้/ค่าตอบแทนต่างๆ รองลงมาคือ ด้านโอกาสความก้าวหน้าในงานและด้านการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ร่วมงาน/ผู้บริหาร ด้านสวัสดิการที่นอกเหนือจากรายได้/ค่าตอบแทน สำหรับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับแรงจูงใจและความพึงพอใจในการทำงานของบุคลากรสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี พบว่า  สถานที่ปฏิบัติงาน กลุ่มสายงาน มีความสัมพันธ์กับแรงจูงใจและความพึงพอใจในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01) และ อายุ กับ ระยะเวลาการปฏิบัติงาน มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05)

การศึกษานี้มีข้อเสนอแนะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรีดำเนินการส่งเสริมให้มีการจัดสวัสดิการ ผลตอบแทน ให้แก่บุคลากรมากขึ้น ซึ่งอาจไม่อยู่ในรูปแบบของเงิน อาจจะประกาศยกย่องเป็นบุคลากรดีเด่นหรือมอบใบประกาศเกียรติคุณ การอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ร่วมงาน/ผู้บริหาร และการสร้างบรรยากาศองค์กรให้เป็นองค์กรที่น่าอยู่ น่าทำงาน และทุกคนมีความสุขในการทำงาน

เผยแพร่แล้ว

10-10-2022