การพยาบาลผู้คลอดที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเนื่องจากการตั้งครรภ์

ผู้แต่ง

  • ปรียา สุวนิช กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลชลบุรี

คำสำคัญ:

การพยาบาลผู้คลอด, ภาวะความดันโลหิตสูง

บทคัดย่อ

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุสำคัญอันดับสองของการเสียชีวิตและทุพพลภาพของสตรีตั้งครรภ์และทารก ภาวะความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์สามารถพัฒนาความรุนแรงของโรคได้ถึงขั้นเสียชีวิต สตรีตั้งครรภ์ที่มีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ชัก เกิดภาวะของโรคหลอดเลือดสมองอย่างฉับพลัน ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด เลือดออกในสมอง ตับวาย ไตวาย และกลุ่มอาการ HELLP นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในทารก เช่น การตายคลอด การบาดเจ็บและ การเสียชีวิตแรกคลอด ซึ่งส่งผลต่อระบบสาธารณสุขเนื่องจากต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้รับบริการกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก พยาบาลจึงต้องใช้ความรู้ในการประเมิน การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน  และให้การพยาบาล เพื่อให้อาการของภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงศึกษาเปรียบเทียบการพยาบาลผู้คลอดที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเนื่องจากการตั้งครรภ์ เป็นการเปรียบเทียบกรณีศึกษา (Case study) จำนวน 2 ราย เพื่อแสดงให้เห็นแนวทางการพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาการพยาบาลผู้คลอดที่มีภาวะทางอายุรกรรมด้วยอย่างชัดเจน

ผลการศึกษา กรณีศึกษาที่ 1 และ 2 มีภาวะภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ สิ่งที่แตกต่างคือ กรณีศึกษารายที่ 2 อายุครรภ์ไม่ครบกำหนดคลอด และอาการของโรคพัฒนาเป็นกลุ่มอาการ Hemolytic anemia Elevated Liver enzyme Low Platelet count (HELLP syndrome) ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากการป้องกันภาวะชัก และตกเลือดหลังคลอดทั้งสองราย จึงจำเป็นต้องให้ยา Steroid แก่ผู้คลอด เพื่อกระตุ้นการสร้างสาร surfactant ของปอดทารก ก่อนยุติการตั้งครรภ์ด้วยการผ่าตัดคลอด ซึ่งภายหลังที่ผู้คลอดได้รับการพยาบาล พบว่าผู้คลอดไม่มีภาวะชัก ตกเลือดหลังคลอด หรือได้รับอันตรายรุนแรงจนกระทั่งพิการหรือเสียชีวิต จากการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าพยาบาลมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่การประเมินแรกรับ การวางแผน การให้การปฏิบัติทางการพยาบาล ประเมินผล โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางในการดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

References

กติกา นวพันธุ์. สูตินรีเวชทันยุค. กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลิฟวิ่ง.2558; 113-24.

Cunningham, F. G., et al (Eds.). Williams OBSTETRICS (24th ed). New York, NY: McGraw-Hill Education. 2014;728-70.

Karumanchi, S. A., Lim, K. H., & August, P. Preeclampsia: Pathogenesis. [Internet]. 2016 [cited 2018 May 1]; Available from: http://www.uptodate.com/contents/preeclampsia pathogenesis?topicKey=OBGYN%2F6760&elapsedTimeMs=6&view=print&displayedView=full

World Health Organization. WHO recommendations for prevention and treatment of pre- eclampsia and eclampsia. [Internet]. 2011 [cited 2018 May 1]; Available from: http:// www.who.int/reproductivehealth /publications/maternal_perinatal_health/9789241548335/en/

Downloads

เผยแพร่แล้ว

20-06-2022