การพยาบาลผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บช่องท้องร่วมกับติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

ผู้แต่ง

  • กมนพันธุ์ ธารบริสุทธิ์กุล กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสระบุรี

คำสำคัญ:

การพยาบาล, การบาดเจ็บช่องท้อง, ไวรัสโคโรน่า 2019

บทคัดย่อ

บทนำ: อุบัติการณ์ของการบาดเจ็บช่องท้องนับวันจะเพิ่มมากขึ้น จากอุบัติการณ์ต่าง ๆ เช่น จากการใช้ยวดยานพาหนะ การทำร้ายร่างกาย เป็นต้น ส่วนใหญ่เกิดจากแผลทะลุและจากแรงกระแทก ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกจากการเสียเลือดและเสียชีวิตในระยะแรก และมีโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อในช่องท้องภายหลัง1 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิต-19) พยาบาลห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่แรกรับ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก อาการปวดช่องท้อง และภาวะพร่องออกซิเจน มีการเตรียมพร้อมเพื่อการผ่าตัดฉุกเฉิน รวมถึงควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

วิธีการศึกษา: คัดเลือกกรณีศึกษาจากเวชระเบียน ที่เข้ารับการรักษาที่งานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสระบุรี จำนวน 1 ราย

ผลการศึกษา: กรณีศึกษา ชายไทย อายุ 43 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการสำคัญ แน่นท้อง หายใจไม่อิ่ม
2 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล ให้ประวัติว่าเล่นกับเพื่อน แล้วเพื่อนเอาสายยางปั๊มลมเป่าเข้ารูทวารหนัก
มีอาการแน่นท้อง หายใจไม่สะดวก จึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน แพทย์ตรวจร่างกายพบมีท้องแข็ง กดปล่อยแล้วเจ็บ สงสัยว่าจะมีภาวะทะลุของอวัยวะภายในช่องท้อง และส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสระบุรี ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ผลตรวจ ATK จากโรงพยาบาลชุมชน negative ทำ RT-PCR for SAR-CoV2 ส่งผู้ป่วยถ่ายภาพรังสีช่องท้อง (film abdomen series) พบมีลมในช่องท้อง set OR Emergency for exploratory laparotomy และได้รับการผ่าตัด simple exploratory laparotomy with peritoneal toilets and exteriorization of sigmoid wound หลังจากใช้กระบวนการพยาบาลเป็นเครื่องมือในการประเมินภาวะสุขภาพของผู้ป่วย นำมาวินิจฉัยการพยาบาล วางแผนการพยาบาล ปฏิบัติการพยาบาลและการประเมินผลในระยะก่อนผ่าตัด ระยะหลังผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นจากภาวะการเจ็บป่วยและปลอดภัยจากภาวะวิกฤติ รวมระยะเวลานอนโรงพยาบาลทั้งหมด 14 วัน

สรุปผล: การดูแลผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บช่องท้องในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 พยาบาลห้องฉุกเฉินจำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะการดูแล ปฏิบัติการพยาบาลตามมาตรฐานการดูแล แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ถูกต้อง รวดเร็ว จะส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย และสามารถควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

References

คณะทำงานจัดทำรายงานประจำปี สำนักโรคไม่ติดต่อ. รายงานประจำปี สำนักโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข 2561. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน; 2561.

สมพล ฤกษ์สมถวิล. Pediatric Trauma. ใน : เลิศพงศ์ สมจริต, สุภาพร โอภาสานนท์, บรรณาธิการ. Update in Trauma Practice. กรุงเทพฯ : กรุงเทพเวชสาร; 2556.

งานเวชระเบียน. สถิติผู้ป่วยประจำปี 2562-2564. สระบุรี : โรงพยาบาลสระบุรี, 2564.

สุชาติ เลิศการช่าง. ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราตายในผู้ป่วยบาดเจ็บช่องท้องที่ได้รับการผ่าตัดในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี. วิชาการแพทย์เขต 11, 2558, 2:327-337.

Centers for Disease Control and Prevention. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19). [Internet].[cited 2022 April 5]. Available from: https://www.cdc.gov/ coronavirus/2019-ncov/symptoms-testing/symptoms.html

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. แนวเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง 8 เมษายน 2563. [Internet]. [cited 2022 May 9]. Available from: https://www.mhesi. go.th/home/index.php/pr/allmedia/55-covid-19/covid-km/1429-2019-covid-19-8-2563.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

31-08-2022