การพยาบาลผู้คลอดที่เป็นโรคซึมเศร้าร่วมกับมีระยะการเบ่งคลอดยาวนาน: กรณีศึกษา
คำสำคัญ:
การพยาบาล, โรคซึมเศร้า, การเบ่งคลอดยาวนานบทคัดย่อ
การเจ็บครรภ์คลอดเป็นการปวดที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้คลอดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเบ่งคลอดที่ยาวนานจะก่อให้เกิดความปวดในระดับที่รุนแรง อาจส่งผลกระทบให้ผู้คลอดและทารกเกิดภาวะแทรกซ้อนและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และยังทำให้มารดารู้สึกท้อ เกิดความกลัว ส่งผลให้เกิดความเครียดตามมา โดยเฉพาะผู้คลอดที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก่อน ความเครียดจะทำให้อาการของโรคเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คลอดถึงขั้นทำร้ายตัวเองและบุตรได้ พยาบาลในห้องคลอดจึงมีบทบาทสำคัญในการประเมินความเสี่ยงโดยการสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงบทบาทในการช่วยลดอาการเจ็บปวด ความกลัว และความวิตกกังวล การคัดกรองโรคซึมเศร้าด้วยแบบประเมิน 2 คำถาม (2Q) ตั้งแต่ระยะแรกรับในห้องคลอด จึงมีความสำคัญ ถ้าพบว่าผู้คลอดมีผลการประเมินผิดปกติ ให้ดำเนินการประเมินระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้าด้วยแบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม (9Q) ถ้าผลที่ได้มีระดับคะแนนความรุนแรงตั้งแต่ระดับเล็กน้อยขึ้นไป รีบประสานทีมจิตเวชมาช่วยดูแล เพื่อให้ผู้คลอดได้รับการดูแลด้านจิตใจที่ถูกต้องและเหมาะสม ส่งผลให้ผู้คลอดมีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สามารถผ่านกระบวนการคลอดได้อย่างปลอดภัยทั้งผู้คลอดและทารก
ผลการศึกษา กรณีศึกษา ผู้คลอดหญิงไทย อายุ 31 ปี ตั้งครรภ์แรก อายุครรภ์ 39 สัปดาห์ มาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บครรภ์คลอด 3 ชั่วโมง ก่อนมาโรงพยาบาล มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า (MDD) รักษาต่อเนื่องที่คลินิกจิตเวชโรงพยาบาลอ่างทองมา 5 ปี หยุดยา Sertraline ขณะตั้งครรภ์ ประเมินภาวะเครียดโรคซึมเศร้าด้วยแบบคัดกรอง 2Q ผลปกติ ในช่วงเบ่งคลอดมีระยะการเบ่งคลอดที่ยาวนานใช้เวลา 2 ชั่วโมงกับ 29 นาที ผู้คลอดรู้สึกท้อและอ่อนเพลีย แพทย์ช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ หลังคลอดมารดาและทารกมีอาการปกติ ย้ายไปตึกพิเศษหลังคลอดได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้นมบุตรได้ จำหน่ายกลับบ้านได้ นอนโรงพยาบาล จำนวน 3 วัน
สรุป จากการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นกระบวนการดูแลผู้คลอดที่เป็นโรคซึมเศร้าเข้ารับการคลอดบุตร ช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่แรกรับจนถึงจำหน่าย โดยเฉพาะระยะแรกรับเป็นระยะที่สำคัญผู้คลอดต้องได้รับการประเมินด้านจิตใจที่ถูกต้องและได้รับการแก้ไขทันที ด้วยแบบคัดกรองโรคซึมเศร้า 2 คำถาม (2Q) และต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาของการคลอด พยาบาลจึงจำเป็นต้องมีทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการพยาบาลผู้คลอดที่มีความยุ่งยากซับซ้อน โดยมีเป้าหมายเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
References
สุนิดา ชัยติกุล และคณะ. ผลของวิธีการเบ่งคลอดแบบธรรมชาติร่วมกับท่านั่งยองๆบนนวัตกรรมเบาะนั่งรองคลอดต่อระยะเวลาที่ 2 ของการคลอดในผู้คลอดครรภ์แรก [อินเตอร์เนต]. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล; 2555 [เข้าถึงเมื่อ 11 มิถุนายน 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://ns.mahidol.ac.th.
วนิดา ล้อพสุภิญโญภาพ. การพยาบาลมารดาที่คลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ [อินเตอร์เนต]. กรุงเทพฯ: สำนักการแพทย์; 2549 [เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://www.msdbankok.co.th.
Medthai. 10วิธีรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด αโรคซึมเศร้าหลังคลอด [อินเตอร์เนต]. [เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2563]. เข้าถึงได้จาก: M https://medthai.com/อาการซึมเศร้าหลังคลอด/.
แก้วตะวัน ศิริลักขณานันท์ และคณะ. บทบาทพยาบาลกับการดูแลแบบองค์รวมในหญิงหลังคลอดที่มีภาวะซึมเศร้า. วารสารทหารบก. 2561; 19: 29-31.
สุกัญญา รักษ์ขจีกุล. ภาวะซึมเศร้าและพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร. วารสารสมาคม จิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 2556; 58(4): 359-370.
ศูนย์สารสนเทศโรงพยาบาลอ่างทอง. รายงานสถิติหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโรคซึมเศร้า-โรคไบโพล่า ปีงบประมาณ 2560-2562. 2562.
Downloads
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของโรงพยาบาลสิงห์บุรี
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลสิงห์บุรี และบุคคลากรท่านอื่นๆในโรงพยาบาลฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว