ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างในพนักงานผลิตเซรามิกของโรงงานขนาดใหญ่ จังหวัดลำปาง

Main Article Content

ภูดิส รักษ์ตระกูล
เพชรรัตน์ ภูอนันตานนท์
ดุสิต สุจิรารัตน์
เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์
อัมรินทร์ คงทวีเลิศ

บทคัดย่อ

            ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญที่พบในพนักงานผลิตเซรามิก เนื่องจากกระบวนการผลิตเซรามิกมีลักษณะท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีผลต่อความผิดปกติทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างของพนักงานผลิตเซรามิกของโรงงานเซรามิกขนาดใหญ่ในจังหวัดลำปาง จำนวน 242 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์สำหรับเก็บข้อมูลทั่วไป และใช้แบบสัมภาษณ์มาตรฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก มาประยุกต์ใช้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสถิติ Chi-square และ Logistic regression ส่วนการประเมินทางด้านการยศาสตร์ โดยใช้ RULA


            ผลการศึกษาพบว่าความชุกของความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างในช่วง 12 เดือน ร้อยละ 94.6 อาการปวดสูงสุดพบที่บริเวณหลังส่วนล่าง ไหล่ และคอตามลำดับ และในช่วง 7 วันที่ผ่านมา เท่ากับร้อยละ 64.5 อาการปวดสูงสุดพบที่บริเวณหลังส่วนล่าง ไหล่ และข้อมือ ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างของพนักงานผลิตเซรามิก ประกอบด้วย ระดับการศึกษา มือข้างที่ถนัด และการทำงานบ้าน ผลการประเมิน RULA พบว่าร้อยละ 91.7 ความเสี่ยงอยู่ในระดับ 4 งานนั้นเป็นปัญหาด้านการยศาสตร์ ที่ต้องได้รับการปรับปรุงโดยทันที ซึ่งผลจากการศึกษานี้สามารถนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการส่งเสริมสุขภาพ ลดความเสี่ยง และอันตรายที่เกิดจากระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างอันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพนักงาน รวมทั้งประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย


 

Article Details

บท
บทความวิจัย