การสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพ การบริหารจัดการภาครัฐ(PMQA) ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • นางจุฬาลักษณ์ อนุอันต์ กลุ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนากำลังคน ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่

บทคัดย่อ

การวิจัยการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ศูนย์อนามัยที่ 1  เชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ(PMQA) ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ(PMQA) และหาแนวทางแก้ไข ทำการศึกษาในบุคลากรทุกระดับของศูนย์อนามัยที่ 1 ที่ปฏิบัติงานเป็นระยะเวลา 3 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งหมด 230 คน ประกอบด้วยข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานจ้างเหมา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ผ่านการทดสอบใช้เครื่องมือ มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.95 ระหว่างวันที่ 1-14 กรกฎาคม 2560  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ใช้สถิติวิจัยแบบพรรณนา โดยการวิเคราะห์แจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ผลการศึกษาพบว่า ระดับความคิดเห็นต่อการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของศูนย์อนามัยที่ 1 โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.63 จำแนกรายด้าน พบว่า ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในองค์กร มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.68 สูงกว่าปัจจัยด้านความรู้และทัศนคติ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.55  โดยด้านแรงจูงใจมีค่าเฉลี่ยระดับความคิดเห็นมากที่สุด เท่ากับ 3.77 (บรรยากาศการทำงาน ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การประสบความสำเร็จขององค์กรในการพัฒนาคุณภาพด้านต่างๆ การยอมรับความรู้ความ   

 

สามารถจากองค์กรและผู้บังคับบัญชา)  รองลงมาคือ ด้านวัฒนธรรมองค์กร ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.76  และด้านการจัดองค์กร ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.57 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าแรงจูงใจ มีส่วนในการสร้างบรรยากาศ ส่งเสริมหรือกระต้นให้บุคลากรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของศูนย์อนามัยที่ 1 เป็นอย่างมาก ส่วนระดับความคิดเห็นของการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.28 จำแนกการมีส่วนร่วม รายด้าน พบว่า การมีส่วนร่วมด้านผลประโยชน์มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.32 รองลงมา คือ การมีส่วนร่วมในด้านการปฏิบัติการ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.31  การมีส่วนร่วมในการประเมินผล ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.30 และ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.19 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า บุคลากรศูนย์อนามัยที่ 1ยังขาดการมีส่วนร่วมคิด การตัดสินใจในการกำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การเลือกโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จะนำมาพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

             ผลการสำรวจปัญหาอุปสรรคในการมีส่วนร่วมดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของศูนย์อนามัยที่ 1 พบว่า บุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA)  ขาดแรงจูงใจในการให้รางวัลกับบุคลากรทุกระดับในการเข้าร่วมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ  บุคลากรเข้าใจว่า PMQA มีความยุ่งยาก เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น จึงไม่เห็นความสำคัญถึงประโยชน์ที่จะได้รับและไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการเท่าที่ควร การสื่อสารถ่ายทอดนโยบาย แนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐยังไม่ชัดเจน ไม่ทั่วถึงทุกระดับ การประชาสัมพันธ์ไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นแนวทางพัฒนาการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ของศูนย์อนามัยที่ 1 ผู้บริหารควรให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ให้ความสำคัญแก่บุคลากรทุกระดับ สื่อสารถ่ายทอดนโยบาย เป้าหมายการดำเนินงานให้ชัดเจนทั่วทั้งองค์กร พัฒนาระบบการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล กำหนดช่องทางหลากหลายในการรับฟังความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของบุคลากรทุกระดับ  เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐอย่างแท้จริง สร้างบรรยากาศสภาพแวดล้อมให้เอื้อในการเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วม ส่งเสริมกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การทำงานเป็นทีม สร้างความผูกพันให้บุคลากร จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้บุคลากรทุกระดับ มีการบูรณาการการทำงานและนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐไปใช้ในงานประจำ มีการสอนงาน ปรับทัศนคติบุคลากรให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและคิดปรับปรุงยอมรับสิ่งใหม่ๆ สร้างแรงจูงใจ ให้บุคลากรทุกระดับที่ได้เข้าร่วมการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม กำกับติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

References

1. สำนักงาน ก.พ.ร.. คู่มือคำอธิบายตัวชี้วัดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ.2554. กรุงเทพฯ : บริษัท วิชั่น พริ้นท์ แอนด์ มีเดีย จำกัด; 2553.
2. สำนักงาน ก.พ.ร..เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ พ.ศ.2558. กรุงเทพฯ : บริษัท วิชั่น พริ้นท์ แอนด์ มีเดีย จำกัด; 2557.
3. สำนักงาน ก.พ.ร..รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปี พ.ศ.2559.กรุงเทพฯ : บริษัท วิชั่น พริ้นท์ แอนด์ มีเดีย จำกัด; 2559.
4. ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่.รายงานการประเมินตนเองตามแนวทางการบริหารจัดการภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558; 2558.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

07/20/2020

ฉบับ

บท

บทนิพนธ์ต้นฉบับ