โครงการสำรวจความครอบคลุมของการรับวัคซีนพื้นฐานและวัคซีน COVID-19 ในกลุ่มเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี ในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC): ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา

Main Article Content

Tuenjai Nuchtean
ภัสราภรณ์ นาสา
วนิดา สังยาหยา
แพรวนภา พันธ์โสรี
แสนสุข เจริญกุล
พนิดา ทองหนูนุ้ย
วาสินี ชลิศราพงศ์
สุทัศน์ โชตนะพันธ์
ชุลีกร ธนธิติกร
คุณากร วงศ์ทิมารัตน์

บทคัดย่อ

แม้ประเทศไทยได้ให้การคุ้มครองเด็กข้ามชาติ ทั้งการจดทะเบียน ให้ใบรับรองการเกิด และการให้วัคซีนป้องกันโรค แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่พบว่ามีเด็กข้ามชาติจำนวนไม่น้อยไม่มีเอกสารประจำตัว และจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพ จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับเด็กข้ามชาติที่อาจเจ็บป่วยจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถทราบได้ว่าเด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคครบถ้วนหรือไม่ ทางคณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะดำเนินโครงการสำรวจความครอบคลุมของการรับวัคซีนพื้นฐานและวัคซีน COVID-19 ในกลุ่มเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี ในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC): ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนพื้นฐานและวัคซีน COVID-19 และปัญหาอุปสรรค/ปัจจัยในการเข้าถึงบริการรับวัคซีนพื้นฐานและวัคซีน COVID-19 ในกลุ่มเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี เป็นการศึกษาเชิงสำรวจชนิดเชิงพรรณนา ใช้แบบสอบถามและแบบเก็บข้อมูล โดยสอบถามจากผู้ปกครองเด็กจำนวน 445 คน  เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปรด้วยสถิติ Pearson’s Chi square โดยนัยสำคัญทางสถิติเท่ากับ 0.05


                จากการเก็บข้อมูลของเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัด จำนวน 445 คน โดยพิจารณาความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน ในช่วงอายุ 0-1 ปี ในภาพรวม 3 จังหวัด พบว่าความครอบคลุมการได้รับวัคซีนวัณโรค (BCG) และตับอักเสบ บี (HB) เมื่อแรกเกิดผ่านเกณฑ์ทุกจังหวัด คือ ได้ร้อยละ 96.9 และ 95.5, วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบ บี, วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (DTP–HB3, OPV3) และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) ได้ร้อยละ 90.1, 88.8 และ 81.0 ส่วนความครอบคลุมการได้รับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR1) พบว่าต่ำกว่าเกณฑ์ คือ ได้ร้อยละ 87.0 ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็กช่วงอายุ 2-3 ปี ผลการสำรวจในภาพรวมทั้ง 3 จังหวัดพบว่า เด็กได้รับวัคซีน DTP 4 ครั้ง ร้อยละ 72.6 วัคซีน OPV 4 ครั้ง ร้อยละ 71.6 และวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (LAJE) 2 ครั้ง ร้อยละ 64.4 โดยทั้ง 3 จังหวัดมีความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมาย สำหรับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็กอายุ 3-4 ปี ผลการสำรวจในภาพรวมทั้ง 3 จังหวัด พบว่า เด็กได้รับวัคซีน MMR ครั้งที่ 2 ร้อยละ 67.4 และได้รับวัคซีน LAJE ตามเกณฑ์อายุ ร้อยละ 64.4 ต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งสองชนิด และเมื่อพิจารณาความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 0-1 ปี อายุ 2-3 ปี และอายุ 3-4 ปี จะพบว่าเมื่ออายุมากขึ้นความครอบคลุมจะต่ำลงเรื่อย ๆ สำหรับวัคซีน COVID-19 ยังมีความครอบคลุมอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยมีประวัติการรับวัคซีนเพียงร้อยละ 25.4 เท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงปัญหาอุปสรรค/ปัจจัยในการเข้ารับบริการวัคซีน พบว่าปัจจัยด้านบุคคล ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมีผลต่อการพาบุตรหลานไปรับวัคซีน, ไม่ว่างหรือไม่มีเวลาพาบุตรหลานไปรับวัคซีน, จำวันที่ฉีดวัคซีนของบุตรหลานไม่ได้เนื่องจากพ้นกำหนดช่วงเวลาที่รับวัคซีนแล้วจึงไม่ได้พาบุตรหลานไป, ไม่ทราบว่าบุตรหลานต้องได้รับวัคซีนหรือคิดว่าได้รับวัคซีนครบแล้ว และมีการย้ายสถานที่ทำงาน/ที่อยู่อาศัย/กลับประเทศต้นทางจึงไม่ได้พาบุตรหลานไปรับวัคซีน มีความสัมพันธ์ต่อการเข้ารับบริการวัคซีนพื้นฐานที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ ค่า p-value <0.05 และปัจจัยด้านการบริการ ได้แก่ สิทธิการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมการรับวัคซีน และสถานพยาบาลที่ให้บริการอยู่ห่างไกล มีความสัมพันธ์ต่อการเข้ารับบริการวัคซีนพื้นฐาน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ ค่า p-value <0.05


                จากการศึกษาในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัดยังได้รับวัคซีนพื้นฐานไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเฉพาะวัคซีน MMR ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2  ต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมายทั้งสองครั้ง และวัคซีนตามเกณฑ์อายุ ได้แก่  OPV3, IPV, DTP4 , OPV4 และ LAJE 2 ครั้ง ไม่ผ่านเกณฑ์เป้าหมายทั้งหมด ส่วนวัคซีน COVID-19 ยังมีความครอบคลุมอยู่ในระดับที่ต่ำ ทั้งนี้ปัญหา/อุปสรรคทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การย้ายที่อยู่อาศัย สิทธิการรักษาพยาบาลที่ไม่ครอบคลุม ความพึงพอใจต่อการให้บริการของเจ้าหน้าที่ และสถานพยาบาลที่ให้บริการอยู่ห่างไกล เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การรับบริการวัคซีนพื้นฐานของกลุ่มเด็กเหล่านี้ต่ำกว่าเป้าหมายได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขควรมีการเร่งรัดการประชาสัมพันธ์และควรมีการลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อติดตามให้กลุ่มเด็กเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้บริการวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนแพร่กระจายมาสู่เด็กไทยในอนาคต

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน. สถิติแรงงานประจำปี 2562. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน; 2562.

ทรงชัย ทองปาน. องค์ความรู้ว่าด้วยแรงงานข้ามชาติกับสุขภาพ: ผลจากการสังเคราะห์งานวิจัยว่าด้วยแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย. วารสารสุขศึกษา. 2563;43(2):1-17.

สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพมหานคร: กรมการจัดหางาน; c20019. ข้อมูลสถิติการทำงานของคนต่างด้าว; 2562 [เข้าถึงเมื่อ 3 มี.ค. 2564]; [ประมาณ 1 น.]. เข้าถึงได้จาก: https://www.doe.go.th/prd/alien/statistic/param/site/152/cat/82/sub/0/pull/category/view/list-label

สยามรัฐออนไลน์. [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพมหานคร: สยามรัฐ; c2019. วิกฤตสถานการณ์ปัญหาสุขภาพประชากรข้ามชาติ “ความจริง” ที่ยังไม่เคยรับรู้. 2562. [เข้าถึงเมื่อ 19 มี.ค. 2566]; [ประมาณ 1 น.] เข้าถึงได้จาก: https://www.hsri.or.th/media/news/detail/12190

ระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพมหานคร: กลุ่มรายงานมาตรฐาน; c2021. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน; 2024 [เข้าถึงเมื่อ 1 พ.ย. 2565]; [ประมาณ 1 น.]. เข้าถึงได้จาก https://hdcservice.moph.go.th/hdc/reports/page.php?cat_id=4df360514655f79f13901ef1181ca1c7

พิมาน ธีระคำ, ศรัณย์พร เวียงเงิน, นันทวรรณ กิติกรรณากรณ์. การเข้าถึงวัคซีนขั้นพื้นฐานสาหรับเด็กต่างด้าวที่อาศัยในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่. วารสารเภสัชกรรมไทย. 2565;14(4):791-801.

ภูทอง พรมมะวงศา, คงเวียง พันทะวงศา, อุดมศักดิ์ มหาวีรวัฒน์, วิทยา อยู่สุข, วันพนอม ศรีเจริญ, สุณีรัตน์ ยั่งยืน. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 24 เดือน เมืองบริคัณฑ์ แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. วารสารการพัฒนาสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2560;5(4):589-603.

Kaji A, Parker DM, Chu CS, Thayatkawin W, Suelaor J, Charatrueangrongkun R, et al. Immunization Coverage in Migrant School Children Along the Thailand-Myanmar Border. J Immigr Minor Health. 2016;18(5):1038-45.

Kantayaporn T, Archavanitkul K, Peerapatanapokin W, Disthawong N, Singkul N, Sinvuttaya S, et al. Expanded Program on Immunization (EPI) for Children of Myanmar Migrants Living in Bangkok, Thailand. Journal of Population and Social Studies. 2013;21(2):227-42.

รุสนา ดอแม็ง, ฐปนรรฆ์ ประทีปเกาะ. ปัจจัยที่มีผลต่อผู้ปกครองในการนำเด็กอายุ 0 - 5 ปี รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐานของจังหวัดปัตตานี. วารสารวิชาการสาธารณสุข. 2562;28(2):224-35.

Cao L, Zheng JS, Cao LS, Cui J, Duan MJ, Xiao QY. Factors influencing the routine immunization status of children aged 2-3 years in China. PLoS One. 2018 Oct 31;13(10):1-12.