อัตราการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และเชื้อซิฟิลิส ในเลือดบริจาค ของโรงพยาบาลหัวหิน
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ความเป็นมา
โรคติดเชื้อที่ติดต่อผ่านทางเลือดบางชนิดไม่ปรากฏอาการทางคลินิก องค์ประกอบสำคัญของการจัดหาเลือด
ที่ปลอดภัยจึงได้แก่ การคัดเลือกผู้บริจาคเลือดและการตรวจการติดเชื้อในเลือดที่ได้รับบริจาคมาอย่าง
มีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
เพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ของอัตราการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และซิฟิลิส ในเลือดบริจาคของโรงพยาบาลหัวหิน
วิธีการศึกษา
เป็นการศึกษาแบบย้อนหลัง โดยรวบรวมข้อมูลข้อมูลทั่วไปของผู้บริจาคเลือด และข้อมูลบันทึกผลการตรวจคัดกรองการติดเชื้อของเลือดบริจาค จากฐานข้อมูลรายงานผลการตรวจการติดเชื้อในเลือดบริจาค ของโรงพยาบาลหัวหินระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2559 แยกตามเพศ ช่วงอายุ อาชีพ ประเภทการบริจาคและสถานที่บริจาค วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปและอัตราการติดเชื้อโดยใช้ค่าร้อยละ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของอัตราการติดเชื้อโดยใช้สถิติไคสแควร์
ผลการศึกษา
มีผู้บริจาคจำนวน 8,741 ราย ร้อยละ 62.1 เป็นเพศชาย เพศหญิงร้อยละ 37.9 ช่วงอายุที่มีผู้บริจาคโลหิตมากที่สุด คือ 21-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 43.9 อาชีพที่บริจาคสูงสุด คือ พนักงานบริษัท รับจ้าง ร้อยละ 44.7
เป็นผู้บริจาคครั้งแรกร้อยละ 37.3 และผู้บริจาครายเก่าร้อยละ 62.7 เป็นการบริจาคภายในโรงพยาบาลหัวหิน ร้อยละ 71.1 จากหน่วยเคลื่อนที่ ร้อยละ 28.9 เมื่อวิเคราะห์อัตราการติดเชื้อพบไวรัสตับอักเสบบี มากที่สุด
ร้อยละ 1.4 รองลงมาคือไวรัสตับอักเสบซีและซิฟิลิส ร้อยละ 0.6และ ไวรัสเอชไอวี ร้อยละ 0.2 เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าเพศชายมีการติดเชื้อสูงกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) กลุ่มอาชีพ และประเภทการบริจาคมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ (p<.001) ขณะที่สถานที่การบริจาคไม่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อในเลือดบริจาคของโรงพยาบาลหัวหิน ช่วงอายุ 21 – 30 ปี และ 17-20 ปี ตรวจพบการติดเชื้อต่ำ พบการติดเชื้อมากที่สุดในกลุ่มอาชีพพนักงานบริษัท รับจ้าง ร้อยละ 3.7 และผู้บริจาคครั้งแรกพบการติดเชื้อมากกว่าผู้บริจาครายเก่า
สรุปและข้อเสนอแนะ
ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อในผู้บริจาคเลือด คือเพศ อายุ อาชีพและประเภทการบริจาคเลือด