ความชุกและปัจจัยเสี่ยงของภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โรงพยาบาลนันอา กรุงเทพฯ
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ความเป็นมา
ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ที่พบได้บ่อย และ มีความสำคัญ เพราะทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา จากรายงานต่างๆ พบว่า ความชุกของภาวะเบาหวานขึ้นจอตา พบได้ ร้อยละ 15.57-42.6 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 และ พบการตาบอด ร้อยละ 2 10, 11 ดังนั้นการศึกษานี้ ที่โรงพยาบาลนันอา จึงมีประโยชน์ในการสร้างมาตรการป้องกัน ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาต่อไป
วัตถุประสงค์
- ศึกษาความชุก ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
- ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
วิธีการศึกษา
เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา แบบภาคตัดขวาง เก็บข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนของผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลนันอา ที่ได้รับการตรวจ คัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา(diabetic retinopathy) จากจักษุแพทย์ โดยการขยายม่านตา ตรวจด้วย slit lamp ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2559 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และสถิติวิเคราะห์ Pearson’s Chi-Square กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ p< 0.05
ผลการศึกษา
จำนวนผู้ป่วย 283 ราย ที่ได้รับการตรวจจอประสาทตา เป็นเพศหญิงร้อยละ 62.9 อายุเฉลี่ย 64.5 ปี ระยะเวลาป่วยโรคเบาหวานเฉลี่ย 8.06 ปี ความชุกภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ร้อยละ 27.2 โดยเป็นระยะไม่รุนแรง NPDR ร้อยละ 22.9 และ ระยะ PDR ร้อยละ 4.2 ปัจจัยที่พบว่า มีความสัมพันธ์กับ ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ได้แก่ อายุผู้ป่วยที่มากกว่า 60 ปี ไม่มีอาชีพ ระยะเวลาการเป็นเบาหวานมากกว่า 10 ปี ดัชนีมวลกายมากกว่า 23 และ ระดับครีเอตินีนมากกว่า 1.5
สรุปและข้อเสนอแนะ
การป้องกันภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา สามารถทำได้โดย ให้ความรู้กับผู้ป่วย กระตุ้นให้ผู้ป่วย เอาใจใส่ เรื่องการดูแลสุขภาพของตนเอง ผู้ป่วยเบาวหวาน ควรได้รับการตรวจคัดกรองจอประสาทตา ทุกปี เน้นการดูแลเป็นพิเศษ ในผู้ที่มีปัจจัยเกี่ยวกับ อันได้แก่ อายุผู้ป่วยที่มากกว่า 60 ปี ไม่มีอาชีพ ระยะเวลาการเป็นเบาหวานมากกว่า 10 ปี ดัชนีมวลกายมากกว่า 23 และ ระดับครีเอตินีนมากกว่า 1.5 เพื่อให้ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้ตั้งแต่ระยะแรก