THE ASSOCIATED FACTORS OF HBV AND/OR HCV CO-INFECTION IN HILL TRIBE HIV INFECTION PATIENTS IN THE NORTHERN REGION, THAILAND, 2015

Main Article Content

จตุพงศ์ สิงหราไชย
เด่นพงษ์ วงศ์วิจิตร
สิรินันท์ สุวรรณาภรณ์
วิภพ สุทธนะ
ปิยะนุช พูลวิวัฒน์
มณฑา เพ็ชรสุวรรณ
วรัญญา ศรีแสง
เพ็ญโพยม สัญฐาน
จตุพร พันธะเกษม

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


ความเป็นมา


                โรคเอดส์และการติดเชื้อเอชไอวี เป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านสาธารณสุขของโลก ในปี พ.ศ. 2558 องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี ราว 36.7 ล้านคน เป็นผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ จำนวน  2.1 ล้านคน และยังพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีอุบัติการณ์การติดเชื้อร่วมกับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชนชาติพันธุ์เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อร่วมของไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป การติดเชื้อร่วมจะเป็นปัจจัยเร่งทำให้เกิดโรคเอดส์ในระยะแสดงอาการได้เร็วมากยิ่งขึ้น


วัตถุประสงค์


เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการติดเชื้อร่วมของไวรัสตับอักเสบบี และหรือ ไวรัสตับอักเสบซีในผู้ป่วยกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พ.ศ. 2557


ระเบียบวิธีการศึกษา


                รูปแบบในการศึกษาคือ Case-control study design (Hospital Based) โดยกลุ่มประชากรที่ศึกษาเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการรักษาในคลินิค Antiretroviral (ARV) ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดพะเยา จำนวน 31 แห่ง เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ เดือน กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2557 ถึง เดือน ตุลาคม ปี พ.ศ. 2558 โดยใช้แบบสอบถาม และเก็บตัวอย่างเลือด จำนวน  5 ซีซี เพื่อตรวจหาการติดเชื้อร่วมทางห้องปฏิบัติการ หลังจากทราบผลการตรวจการติดเชื้อ HBV และHBC กลุ่มตัวอย่างจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) Case group  ได้แก่ ประชากรชนชาติพันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัส HIV/AIDS และ ติดเชื้อ HBV หรือ HCV หรือ ติดเชื้อทั้ง HBV และ HCV 2) Control group คือ ประชากรชนชาติพันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัส HIV/AIDS แต่ไม่ติดเชื้อ ทั้ง HBV and HCV สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ สถิติเชิงพรรณนา
ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ  และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่  Chi-square และ Simple and Multiple Logistic Regression


ผลการศึกษา


ผลการศึกษาพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้มี จำนวน 353 คน มีอายุระหว่าง 30-43 ปี ร้อยละ 47.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 74.1 เป็นชนเผ่า ลาหู่และกะเหรี่ยง  ร้อยละ 37.8 และ 26.5 ตามลำดับ ความชุกของการติดเชื้อร่วมของผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อไวรัสตับอักเสบบี พบ ร้อยละ 17.28 และความชุกของการติดเชื้อร่วมของผู้ติดเชื้อเอชไอวี
และเชื้อไวรัสตับอักเสบซี พบ ร้อยละ 9.92 และความชุกของการติดเชื้อร่วมของผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อ HBV  หรือ HCV หรือ ติดเชื้อทั้ง HBV และ HCV  พบ ร้อยละ 26.35 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการติดเชื้อร่วมของผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อ HBV  และหรือ HCV  ได้แก่ เพศ การใช้สารเสพติด ระดับ CD4 และระยะเวลาการติดเชื้อเอชไอวี (p<0.05)


 การอภิปรายผล


                ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อร่วมทั้ง 4 ปัจจัย ในกลุ่มชนชาติพันธุ์ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สามารถสรุปเป็นข้อเสนอแนะเป็นมาตรการในการการป้องกันการติดเชื้อไวรัสร่วม ดังนี้ การให้สุขศึกษาแก่กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ โดยเฉพาะในเพศชาย  ให้หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดชนิดที่ต้องใช้เข็มฉีดเข้าเส้นเลือด และเพิ่มเนื้อหาสาระในโปรแกรมสุขศึกษาในคลินิก ARV ในโรงพยาบาลทุกแห่งถึงปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการติดเชื้อร่วมแก่ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอทั้งผู้ป่วยรายเก่าและรายใหม่ นอกจากนี้ควรส่งเสริม และสร้างความตระหนักให้กับผู้ป่วยเอชไอวีรายใหม่ให้เข้ารับการตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบร่วมทุกราย

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ