ลักษณะทางคลินิกและการรักษาภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง ณ แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

Main Article Content

ยุทธนา โค้วจิริยะพันธุ์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


ความเป็นมา: ภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (anaphylaxis) หมายถึง ปฏิกิริยาภูมิแพ้ทั่วร่างกายที่เกิดขึ้นฉับพลันและมีความรุนแรงถึงชีวิต ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่มีภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเข้ามารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก ปัญหาที่พบ คือ ผู้ป่วยมีอาการทางคลินิกที่เข้าได้กับภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง  แต่ได้รับการวินิจฉัยไม่ถูกต้อง ทำให้ส่งผลให้การรักษาไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วยได้


วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาลักษณะทางคลินิกและแนวทางการรักษาภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงของผู้ป่วยที่มารับการรักษา ณ แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์


วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบพรรณนาย้อนหลัง ศึกษาผู้ป่วยที่มีภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงที่มารับการรักษา ณ แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2558 จนถึงเดือน กันยายน พ.ศ. 2559


ผลการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งหมด 116 ราย เพศชายต่อเพศหญิง 1:1 อายุเฉลี่ย 29.5 ปี อาการและอาการแสดงพบระบบผิวหนังและเยื่อบุมากที่สุด จำนวน 115 ราย (ร้อยละ 99.1) ค่ามัธยฐานระยะเวลาตั้งแต่ได้รับสิ่งกระตุ้นจนเกิดอาการเป็นเวลา 30 นาที (ต่ำสุด 5 นาที สูงสุด 360 นาที) อาหารเป็นสาเหตุอันดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 73.3 โดยพบว่าเกิดจากกุ้งมากที่สุด ร้อยละ 25.0 ผู้ป่วยได้รับยา Epinephrine จำนวน 92 ราย (ร้อยละ 79.3) ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิต


สรุปและข้อเสนอแนะ: ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยที่มีภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง ส่วนใหญ่พบอาการและอาการแสดงทางระบบผิวหนังและเยื่อบุ ผู้ป่วยทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง ควรได้รับการรักษาที่จำเพาะ คือ ยา Epinephrine และนัดติดตามพบแพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ตามสมควร

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ