การศึกษาความเชื่อ และพฤติกรมด้านสุขภาพที่มีผลต่อการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ในกลุ่มชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

ทัศนีย์ จินะธรรม
ภิรภัทร คุ้มเนตร
พิษณุรักษ์ กันทวี

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


ความเป็นมา


ชนเผ่ากระเหรี่ยงมีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารที่แตกต่างจากชนพื้นเมือง และชนเผ่าอื่นๆในอำเภอดอยหลวง ทั้งนี้ชนเผ่ากระเหรี่ยงมีการปฏิบัติของบุคคลขึ้นอยู่กับความเชื่อของชนเผ่ามาแต่ดั้งเดิม ตามแบบแผนความเชื่อทางด้านสุขภาพ กล่าวว่า ความเชื่อด้านสุขภาพ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของบุคคลในการป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ จึงได้ศึกษาความเชื่อด้านสุขภาพ และพฤติกรรมการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ในกลุ่มชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางการออกแบบระบบการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน


วัตถุประสงค์


เพื่อศึกษาความเชื่อและพฤติกรรมด้านสุขภาพที่มีผลต่อการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ในกลุ่มชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย


วิธีการศึกษา


การศึกษาวิจัยแบบผสมผสานใช้การวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในลักษณะจัดเก็บแบบสอบถามและสัมภาษณ์ ในประชากรกลุ่มชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จำนวน 350 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบจำเพาะเจาะจง  วิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนา แสดงค่าข้อมูลเป็นค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการหาความสัมพันธ์ของตัวแปร การวิเคราะห์เชิงคุณภาพโดยใช้วิเคราะห์เชิงเนื้อหา


ผลการศึกษา


ด้านพฤติกรรม พบว่า กินผักไม่หลากหลายในหนึ่งวัน ร้อยละ68.8 กินผักและผลไม้สด น้อยกว่าครึ่งกิโลกรัมต่อวันร้อยละ 68 ไม่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ร้อยละ 87.0 ไม่ออกแรงหรือเคลื่อนไหวร่างกาย ร้อยละ33.9 ด้านความเชื่อ พบว่า มีความเชื่อว่าคนที่มีกรรมพันธุ์เบาหวานแม้จะรับประทาน อาหารป้องกันโรคเบาหวานก็ไม่สามารถป้องกันโรคได้ ร้อยละ 64.7 ถ้ามีใครมาบอกว่ารับประทานอาหารมากเกินไปหรือห้ามไม่ให้รับประทานอาหารที่ชอบมักจะรู้สึกไม่ดีและไม่พอใจ ร้อยละ 71.3 และยังพบว่า รับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เป็นความเชื่อของบุคคลมีผลโดยตรงต่อการปฏิบัติตัว รับรู้ความรุนแรงของโรคซึ่งมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับพฤติกรรมการป้องกันโรค รับรู้ถึงประโยชน์การรักษาและการป้องกันโรคต่อการปฏิบัติพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในทางลบ และพบปัจจัยร่วมด้านอื่นส่งผลถึงการรับรู้และการปฏิบัติตัวในการดูแลตัวเอง


สรุปและข้อเสนอแนะ


ความเชื่อ และพฤติกรรมด้านสุขภาพที่มีผลต่อการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ซึ่งมีการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค รับรู้ความรุนแรงของโรค รับรู้ถึงประโยชน์การรักษาและการป้องกันโรค พบปัจจัยร่วมด้านอื่น ส่งผลถึงการรับรู้และการปฏิบัติตัว ข้อเสนอแนะคือควรมีการนำข้อมูลเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนนโยบาย และนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการดูแลป้องกันการเกิดโรคเบาหวานต่อไป

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ