ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตัวในการป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในผู้สัมผัสร่วมบ้านของผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่ จังหวัดเชียงราย
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ความเป็นมา : วัณโรคเป็นโรคติดต่อสำคัญที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีปัญหาด้านวัณโรคเป็นลำดับที่ 26 จาก 30 กลุ่มประเทศในโลกที่ยังมีปัญหาวัณโรคสูง จังหวัดเชียงรายมีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูงเป็นลำดับที่ 1 ของภาคเหนือ ผู้สัมผัสใกล้ชิดจะมีโอกาสได้รับเชื้อวัณโรคจากการที่ผู้ป่วย ไอ จาม และไม่ได้ป้องกันมากที่สุด ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรควัณโรคได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อจะทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อทางระลลทางเดินหายใจได้มาก
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตัวในการป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในผู้สัมผัสร่วมบ้านของผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่ จังหวัดเชียงราย
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ Case-Control ในผู้สัมผัสร่วมบ้านของผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่ที่มีผลเสมหะพบเชื้อ และไม่พบเชื้อในจังหวัดเชียงราย ใช้แบบคัดกรองผู้สัมผัสร่วมบ้านและแบบสัมภาษณ์ในการเก็บข้อมูลซึ่งผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และทดสอบค่าความเชื่อมั่นของแบบสัมภาษณ์ ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของ Cronbach ความรู้ ทัศนคติ และ การปฏิบัติตัว คือ 0.718 0.712 และ 0.725
ผลการศึกษา : ผู้สัมผัสร่วมบ้านทั้งหมด 125 ราย เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้านของผู้ป่วยวันโรคปอดเสมหะพบเชื้อรายใหม่ จำนวน 63 ราย (ร้อยละ 50.4) และผู้สัมผัสร่วมบ้านของผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่เสมหะ
ไม่พบเชื้อ 62 ราย (ร้อยละ 49.6) จากผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่ที่เป็น index cases จำนวน 59 ราย สัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิง 1:2 มัธยฐานอายุ คือ 42.0 ปี ระดับการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ระดับประถมศึกษา ผู้สัมผัสผัสร่วมบ้านส่วนใหญ่เป็นสามี/ภรรยา และบุตร และความถี่ในการสัมผัสผู้ป่วยวัณโรคมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน (ร้อยละ 27.2) ทั้งนี้ผู้สัมผัสร่วมบ้านของผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีเสมหะพบเชื้อ และไม่มีเสมหะพบเชื้อไม่มีความแตกต่างกันของระดับความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมในการติดเชื้อวัณโรค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปและข้อเสนอแนะ: ความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติตัว ของกลุ่มตัวอย่างไม่มีความแตกต่างกันระหว่างผู้สัมผัสร่วมบ้านของผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะบวก และ ผลเสมหะเป็นลบ อย่างไรก็ตามปัจจัยอื่น ๆ อาจส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างมีการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงได้ โดยเฉพาะหากกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กที่อายุต่ำว่า
14 ปี หรือกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะต้องได้รับการคัดกรองและเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอเผื่อลดอัตราการติดเชื้อวัณโรครวมถึงการป่วยเป็นวัณโรค