ผลการให้สารน้ำก่อนและหลังการตรวจ Intravenous pyelography(IVP) ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิด Contrast induced acute kidney injury(CI-AKI)
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ความเป็นมา เนื่องด้วยปัจจุบันการส่งตรวจพิเศษของระบบทางเดินปัสสาวะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ป่วยบางส่วนมีปัญหาเรื่องการทำงานของไตที่ลดลง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทึบรังสี ดังนั้นจึงมีการวางแนวทางการป้องกันโดยให้สารน้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก่อนและหลังทำการตรวจ เพื่อลดโอกาศเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการให้สารน้ำในการป้องกันภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทึบรังสีในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มารับการตรวจ IVP ของโรงพยาบาลฝาง
วิธีการศึกษา การวิจัยแบบศึกษาข้อมูลย้อนหลัง ในผู้ป่วยที่มารับการตรวจ IVP ช่วงมิถุนายน 2558- ธันวาคม 2560 ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงคือผู้ป่วยที่มีผลการตรวจ eGFR อยู่ในช่วง 30-60 มล./นาที/1.73 ม2โดยผู้ป่วยจะต้องเข้านอนในโรงพยาบาลและได้รับการให้ 0.9% NSS ในอัตรา 0.5-1 cc/kg/hour เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อน และหลังจากการตรวจ IVP จากนั้นจะทำการตรวจ SCr และ eGFR ซ้ำหลังได้สารน้ำครบ 12 ชั่วโมง
แล้วจึงทำการเปรียบเทียบผล SCr และ eGFR ก่อนและหลังการตรวจโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการวิเคราะห์ข้อมูลและใช้สถิติเชิงพรรณาและสถิติอนุมาน ได้แก่ Paired sample t-test ในการแปลผล
ผลการศึกษา จากกลุ่มตัวอย่าง 68 คนมีผลการตรวจ IVP เป็นบวก ร้อยละ85.3 กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยของ SCr และ eGFR ก่อนเข้ารับการตรวจเท่ากับ 1.42 และ 48.39 ตามลำดับ มีค่าเฉลี่ยของ SCr และ eGFR ภายหลังเข้ารับการตรวจเท่ากับ 1.19 และ 61.94 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังการตรวจ พบว่า ค่าเฉลี่ยของ SCrลดลงและค่าเฉลี่ยของ eGFR สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปและข้อเสนอแนะ การให้สารน้ำน่าจะมีผลช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทึบรังสี แต่เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทึบรังสีมีหลากหลายเช่น โรคเบาหวาน การได้รับยาทีมีพิษต่อไต ภาวะขาดน้ำ และ ได้รับการผ่าตัดไตมาก่อน ในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจากสารทึบรังสีหลายปัจจัย อาจปรับเปลี่ยนการตรวจเป็น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบไม่ฉีดสารทึบรังสีหรืออัลตราซาวน์ไตแทน