ประสิทธิผลการใช้แนวทางการดูแลผู้ป่วยติดเตียง (Home Ward) อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ความเป็นมา
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางแผนการดูแลอย่างเป็นระบบตั้งแต่แรกรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ขณะพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและผู้ป่วยได้รับบริการสุขภาพอย่างเพียงพอ จึงต้องมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนและใช้ประโยชน์ได้จริง
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาผลการใช้แนวทางดูแลผู้ป่วยติดเตียง (Home Ward) อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
วิธีการศึกษา
การศึกษานี้การวิจัยเชิงวิเคราะห์ศึกษาจากผลมาหาเหตุ (Case –control study) โดยสืบค้นข้อมูลจากบันทึกการให้บริการเยี่ยมบ้านของศูนย์ดูแลต่อเนื่องโรงพยาบาลฝาง กลุ่มศึกษา คือ ผู้ป่วยติดเตียงที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลฝาง ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม พ.ศ.2560 ได้รับการเยี่ยมบ้านแบบใหม่ตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยติดเตียง (Home Ward) จำนวน 39 คน และกลุ่มควบคุม คือ ผู้ป่วยติดเตียงที่รักษาตัวระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม พ.ศ.2559 ได้รับการเยี่ยมบ้านแบบเดิม จำนวน 25 คน วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยการแจกแจงจำนวน ร้อยละ และทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติไคว์สแคว (Chi-square test)
ผลการศึกษา
ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการเยี่ยมบ้านกับผลลัพธ์การเยี่ยมบ้าน ด้านความครอบคลุมการเยี่ยมบ้าน ภายใน 7 วัน มีค่า X2=4.910, P value = 0.027 ด้านการเปลี่ยนแปลงทางคลินิก มีค่า X2=14.486, P value = 0.001 ด้านการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่บ้าน มีค่า X2=4.910, P value = 0.027 และด้านการรักษาซ้ำด้วยโรคเดิม ภายใน 28 วัน มีค่า X2=0.104, P value = 0.747
สรุปและข้อเสนอแนะ
รูปแบบแนวทางการเยี่ยมบ้าน (Home Ward) มีผลต่อผลลัพธ์การเยี่ยมบ้านด้านความครอบคลุมการเยี่ยมบ้าน ภายใน 7 วัน (ครอบคลุม 100%) ด้านการเปลี่ยนแปลงทางคลินิก (อาการคงเดิม 82.5% อาการดีขึ้น 7.69% ) ด้านการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่บ้าน (ไม่พบการเกิดภาวะแทรกที่บ้าน) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ดังนั้นควรมีการดำเนินการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Ward) และขยายการดำเนินงานไปยังงานบริการอื่นที่คล้ายคลึงกัน หรือโรงพยาบาลอื่นได้