ผลการรักษาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม โรงพยาบาลฝาง จังหวัดเชียงใหม่
Main Article Content
บทคัดย่อ
ความเป็นมา
ภาวะข้อเสื่อม (osteoarthritis) เป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความพิการ และส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพในผู้สูงอายุ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในปัจจุบันประสบความสำเร็จอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อม ผลการรักษาการผ่าตัดที่ดีมาจากสภาพการปรับตัวของผู้ป่วย การติดตามผลการดูแลรักษาหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสามารถบอกถึงคุณภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วย
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาผลการรักษาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในเรื่องขององศาการเหยียด งอ และความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิภาพของการปรับตัวกับผลการรักษาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
วิธีการศึกษา
เป็นการวิจัยแบบ cross-sectional descriptive study กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม และมาติดตามการรักษาหลังการผ่าตัด โรงพยาบาลฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2559 จำนวน 87 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติพรรณนา สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน และสถิติ Chi-square
ผลการศึกษา
ผลการรักษาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม พบว่า พิสัยการเคลื่อนไหวข้อเข่าข้างที่ผ่าตัด ส่วนใหญ่มีองศาการเหยียด (extension) 0 องศา ร้อยละ 87.4 และมีองศาการงอ (flexion) 91-110 องศา ร้อยละ 37.9 และหลังผ่าตัดไม่มีภาวะแทรกซ้อน ร้อยละ 94.3 หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีการปรับตัวโดยรวมอยู่ในระดับกำลังปรับตัว โดยด้านร่างกายอยู่ในระดับการปรับตัวมีประสิทธิภาพ สำหรับด้านอื่นๆ อีก 3 ด้าน อยู่ในระดับกำลังปรับตัว ผู้ป่วยร้อยละ 54.02 อยู่ในระดับกำลังปรับตัว และร้อยละ 45.98 ปรับตัวในระดับมีประสิทธิภาพ ระดับการศึกษา รายได้เฉลี่ยของครอบครัว ระยะเวลาภายหลังการผ่าตัด และพิสัยการเคลื่อนไหวข้อเข่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการปรับตัว อายุความสัมพันธ์เชิงลบกับการปรับตัว แต่ เพศและสถานภาพสมรสไม่มีความสัมพันธ์กับการปรับตัว
สรุปและข้อเสนอแนะ
จากการศึกษานี้อายุมีความสัมพันธ์เชิงลบกับผลการรักษา ดังนั้นควรส่งเสริมหรือให้ความสนใจในการดูแลผู้ป่วยที่มีอายุมากก่อนเข้ากระบวนการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค วิธีการผ่าตัด การบริหารเข่าและฝึกทักษะในการใช้ชีวิตประจำวัน ร่วมกับญาติให้มีส่วนร่วมในการเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในการรับรู้ข้อมูล และฝึกทักษะในการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด