ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการใช้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนละผู้ป่วยวิกฤติในโรงพยาบาลฝาง

Main Article Content

แสงอาทิตย์ วิชัยยา

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


ความเป็นมา


การเจ็บป่วยด้วยภาวะฉุกเฉิน เป็นอุบัติการณ์เจ็บป่วยที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน การได้รับการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินอย่างถูกวิธีและรวดเร็วที่จุดเกิดเหตุหรือระบบช่วยเหลือฉุกเฉินก่อนมาโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพจะสามารถลดอัตราการตายและภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สถิติการเรียกใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ของผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนและวิกฤติในโรงพยาบาลฝางต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด


วัตถุประสงค์


เพื่อศึกษาอัตราการใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินของผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนและผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลฝาง และ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินของผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนและผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลฝาง


วิธีการศึกษา


การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวาง เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม ค่าความเชื่อมั่น(Reliability)เท่ากับ 0.66  กลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มคนที่มารับบริการที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลฝาง ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 –  31 มกราคม 2561 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมานได้แก่ Chi- Square


ผลการศึกษา


พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการใช้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินร้อยละ 38.8 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเรียกใช้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินเร่งด่วนและผู้ป่วยวิกฤตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การรับรู้อาการ(p=0.017) ลักษณะของอาการเจ็บป่วย(p=0.003)  การเคยมีประสบการณ์  (p=0.001) การรับรู้อุปสรรค (p=0.001)  ส่วนตัวแปรอื่น ๆ เช่น เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ อาชีพ การมีรถยนต์และจักรยานยนต์ สถานที่อยู่อาศัย ทัศนคติต่อระบบบริการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่มีความสัมพันธ์กับการใช้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน และผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลฝาง    


สรุปและข้อเสนอแนะ


                ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินเร่งด่วนและฉุกเฉินวิกฤตมีการเรียกใช้ระบบบริการการการแพทย์ฉุกเฉินในอัตราที่ต่ำ ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ คือ ควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยทราบตั้งแต่การรับรู้ถึงอาการ ภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนและวิกฤติที่ต้องใช้ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การปรับทัศนคติการรับรู้อุปสรรคที่ถูกต้อง รวมทั้งสื่อสารขั้นตอนการให้บริการ การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการใช้บริการกับไม่ใช้บริการ และควรมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งควรมีการสร้างชุมชุนสื่อสารออนไลน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการเข้าถึงบริการในระดับชุมชนระหว่างผู้ให้บริการและประชาชนในพื้นที่อำเภอฝาง

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ