คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุติดบ้านในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

สุเทียน แก้วมะคำ
อารีย์ แก้วมะคำ

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ
ความเป็นมา
ปัญหาสุขภาพช่องปากยังพบมากในผู้สูงอายุทั้งโรคฟันผุ ปริทันต์และการสูญเสียฟัน ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในผู้สูงอายุติดบ้านซึ่งเป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองได้จำกัดทั้งการเคลื่อนที่และการเข้าสังคม
วัตถุประสงค์
1.เพื่อศึกษาผลกระทบของสภาวะสุขภาพช่องปากต่อสมรรถภาพในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุติดบ้าน
2.เพื่อศึกษาปัจจัยสุขภาพช่องปากที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุติดบ้าน
วิธีการศึกษา
เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางในผู้สูงอายุติดบ้านทุกคนของอำเภอเชียงของ จำนวน 158 คน ประเมินผลกระทบของสุขภาพช่องปากต่อสมรรถภาพในชีวิตประจำวันโดยใช้ดัชนีประเมินผลกระทบของสุขภาพช่องปากต่อสมรรถภาพในชีวิตประจำวัน (The Oral Impacts on Daily Performances: OIDP) เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบประเมิน OIDP และการตรวจสุขภาพช่องปาก ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 - เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติวิเคราะห์
การถดถอยพหุคูณลอจิสติก (multiple logistic regression)
ผลการศึกษา
ผู้สูงอายุติดบ้านได้รับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากอย่างน้อย 1 กิจกรรม ร้อยละ 75.9กิจกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ การรับประทานอาหาร รองลงไปคือ การทำความสะอาดช่องปากหรือฟันเทียม และการยิ้มหัวเราะอวดฟัน คิดเป็นร้อยละ 75.3 25.9 และ 24.6 ตามลำดับ ปัจจัยสุขภาพช่องปากที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุติดบ้านอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ จำนวนคู่สบฟันหลังน้อยกว่า 4 คู่ (Adjusted odds ratio: AOR=10.94, 95%CI=3.32-35.96) การมีร่องลึกปริทันต์ (AOR=2.84, 95%CI=1.01-7.95)
สรุปและข้อเสนอแนะ
ผู้สูงอายุติดบ้านควรได้รับการเยี่ยมบ้านโดยทันตบุคลากรร่วมกับสหสาขาวิชาชีพเพื่อตรวจและสอนการดูแลสุขภาพช่องปาก อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง และจัดให้มีบริการทันตกรรมที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะการรักษาโรคปริทันต์ และการใส่ฟันเทียม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุติดบ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ