ผลการใช้แนวทางเสริมธาตุเหล็กในทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย 2,000-2,499 กรัม โรงพยาบาลฝาง

Main Article Content

กรองทอง ชวพันธุ์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


ความเป็นมา


                ภาวะโลหิตจางเป็นปัญหาสำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กซึ่งเป็นสาเหตุหลักในเด็กไทย โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งคือทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ดังนั้นในเด็กกลุ่มนี้จึงควรที่จะได้รับการเสริมธาตุเหล็กตามแนวทางที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันและลดการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก


วัตถุประสงค์


                  เพื่อประเมินผลการใช้แนวทางเสริมธาตุเหล็กในทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย 2,000- 2,499 กรัมที่มารับบริการในคลินิกพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง โรงพยาบาลฝาง


วิธีการศึกษา


                การวิจัยแบบศึกษาข้อมูลย้อนหลังเชิงพรรณนา ในผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในคลินิกพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยงโรงพยาบาลฝาง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 มกราคม 2561 โดยกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัว 2,000-2,499 กรัม ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน จำนวน 78 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ไม่ได้รับการเสริมธาตุเหล็ก 46 ราย (58.9%) และกลุ่มที่ได้รับการเสริมธาตุเหล็กตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป 32 ราย(41.1%) ทำการเก็บข้อมูลย้อนหลังโดยรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนโดยใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยจัดทำเอง


ผลการศึกษา


                กลุ่มเป้าหมายสองกลุ่มมีข้อมูลทั่วไปและความเข้มข้นเลือด (Haematocrit; Hct) แรกเกิดที่คล้ายคลึงกัน ค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นเลือด (Haematocrit; Hct) ของเด็กอายุ 6 เดือน ในกลุ่มที่รับการเสริมธาตุเหล็กมีค่าความเข้มข้นเลือดที่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และกลุ่มที่ไม่ได้รับการเสริมธาตุเหล็กพบมีภาวะซีด 23 ราย เป็นภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก(Iron deficiency anemia, IDA) 20 ราย และโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย(Thalassemia, Thal) 3 ราย ไม่พบภาวะซีดในกลุ่มที่ได้รับการเสริมธาตุเหล็กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)


สรุปและข้อเสนอแนะ


                การเสริมธาตุเหล็กตามแนวทางในทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัมตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป ลดการเกิดภาวะซีดและสามารถป้องกันการเกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กได้

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ