การพัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีเพื่อประสานการดูแลจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วม
คำสำคัญ:
รูปแบบ, การจัดการรายกรณี, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจบทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัญหาและความต้องการการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วม 2) พัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีเพื่อประสานการดูแลจากโรงพยาบาลสู่ชุมชนสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วม 3) ประเมินผลรูปแบบการจัดการรายกรณีเพื่อประสานการดูแลจากโรงพยาบาลสู่ชุมชนสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วมที่พัฒนาขึ้น
กลุ่มตัวอย่างแบ่งตามระยะการพัฒนารูปแบบ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาปัญหาและความต้องการการดูแล กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วมและผู้ดูแล จำนวน 22 คน ในอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบฯ กลุ่มตัวอย่างเป็นแพทย์และพยาบาล จำนวน 12 คน และระยะที่ 3 การประเมินผลการใช้รูปแบบฯ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วม จำนวน 5 คน กลุ่มตัวอย่างถูกคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ 1) แนวทางสนทนากลุ่มเพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการการดูแล 2) แนวทางสนทนากลุ่มเพื่อพัฒนารูปแบบฯ 3) แบบสอบถามพฤติกรรมการจัดการตนเอง ซึ่งมีค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหา .94 และมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค .82 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติทดสอบวิลคอกซันไซน์แรงค์ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัญหาและความต้องการการดูแลสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วม ได้แก่ ด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ สังคม และการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ 2) รูปแบบการจัดการรายกรณีเพื่อประสานการดูแลจากโรงพยาบาลสู่ชุมชนฯ ประกอบด้วย เป้าหมายการจัดการรายกรณีคือผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วมทุกราย โดยพยาบาลวิชาชีพจะทำหน้าที่แจ้งข้อมูลผู้ป่วยให้พยาบาลผู้จัดการรายกรณีเพื่อจัดลำดับความเร่งด่วนตามเกณฑ์ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีประวัติเจ็บเค้นหน้าอกและ/หรือควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ ใช้ยาไม่ถูกต้อง อยู่บ้านคนเดียว อ่านหนังสือไม่ออก ผู้จัดการรายกรณีจะประเมินความต้องการการดูแลก่อนประสานงานทีมสหสาขาวิชาชีพ และส่งข้อมูลให้พยาบาลวิชาชีพในชุมชน เพื่อวางแผนการดูแล เยี่ยมบ้าน และประเมินผลร่วมกัน 3) หลังได้รับการจัดการรายกรณีตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการจัดการตนเองดีกว่าก่อนใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีค่าเฉลี่ยของความดันเลือดแดงอยู่ในเกณฑ์ปกติไม่แตกต่างกับก่อนใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
Downloads
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิจัยสุขภาพและการพยาบาล (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ) ไม่สามารถนำไปตีพิมพ์ซ้ำในวารสารฉบับอื่น