แร่โพแทชที่พบในเกลือชั้นกลางในหมวดหินมหาสารคาม แอ่งโคราช ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
คำสำคัญ:
เกลือชั้นกลาง แร่โพแทช หมวดหินมหาสารคาม ปริมาณโพแทสเซียมโบรไมด์บทคัดย่อ
แหล่งแร่โพแทชในประเทศไทยจะพบเฉพาะในหมวดหินมหาสารคามบนที่ราบสูงโคราชซึ่งเกิดอยู่ในแอ่งเหนือหรือแอ่งสกลนครและแอ่งใต้หรือแอ่งโคราช จากการเจาะสำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี ชั้นหินที่มีความสมบูรณ์ในหมวดหินมหาสารคามจะประกอบด้วยเกลือหิน 3 ชั้น ได้แก่ชั้นบน ชั้นกลางและชั้นล่าง แต่ละชั้นถูกคั่นด้วยชั้นดินเหนียวสีน้ำตาลแดง ส่วนชั้นแร่โพแทชจะพบอยู่ตอนบนของเกลือชั้นล่างเสมอและเป็นชั้นที่มีความหนาพอสมควรที่จะสามารถผลิตแร่โพแทชในเชิงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้ไม่ว่าจะเป็นแร่โพแทชชนิดซิลไวต์ (ชนิดที่ดีที่สุดในโลก) หรือแร่โพแทชชนิดคาร์นัลไลต์ (ชนิดเกรดต่ำ) ส่วนในชั้นเกลือชั้นกลางและชั้นบนจะไม่เคยพบแร่โพแทชเกิดทับบนชั้นเกลือดังกล่าวเลยอย่างไรก็ตามในบรรดาหลุมเจาะทั้งสิ้น 196 หลุม ที่กรมทรัพยากรธรณีเคยเจาะเพื่อการสำรวจเกลือและโพแทชพบว่ามีหลุมเจาะอยู่หลุมหนึ่งที่พบว่ามีชั้นแร่โพแทชเกิดขึ้นอยู่ตอนบนของเกลือชั้นกลางและตอนบนของเกลือชั้นล่าง เกิดเป็นชั้นแร่โพแทช 2 ชั้น หลุมเจาะนี้มีตำแหน่งอยู่ที่ บ้านตาล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ หลุมเจาะนี้พบว่ามีเกลือหิน 2 ชั้นคือเกลือชั้นล่างและเกลือชั้นกลาง ส่วนเกลือชั้นบนถูกทำให้ละลายและกลายเป็นชั้นแอนไฮไดรต์ไปแล้วเกลือชั้นล่างมีโพแทชชนิดคาร์นัลไลต์เกิดทับอยู่ตอนบน ส่วนเกลือชั้นกลางก็ยังสามารถพบแร่โพแทชเกิดขึ้นตอนบนสุดของชั้นเช่นกันแต่เป็นแร่โพแทชชนิดซิลไวต์ซึ่งหลังจากมีการตรวจสอบการสะสมตัวด้วยวิธีการศึกษาปริมาณโพแทสเซียมโบรไมด์ก็พบว่าชั้นแร่โพแทชเกิดสะสมอยู่ในเกลือชั้นกลางจริงดังนั้นถึงแม้ว่าในเกลือชั้นกลางที่ไม่เคยพบแร่โพแทชเลยก็สามารถพบแร่โพแทชชนิดที่ดีที่สุดในโลกได้เช่นกัน