ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุภาคเหนือตอนบน
คำสำคัญ:
ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า, ผู้สูงอายุ, ภาคเหนือตอนบนบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนจำนวน 400 ราย จากการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยแบบสัมภาษณ์และแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า 2 คำถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา และ Binary logistic regression analysis ผลการวิจัยพบว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเท่ากับ ร้อยละ 52.3 เพศหญิงมีความเสี่ยงมากที่สุด ร้อยละ 51.1 ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุ พบว่า บทบาททางสังคม การรับรู้สภาวะสุขภาพตนเอง พฤติกรรมสุขภาพ เพศ ระดับการศึกษา และอาชีพ มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05โดยสามารถร่วมกันทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ถูกต้องร้อยละ 67.00 โดยพบว่าบทบาททางสังคม การรับรู้สภาวะสุขภาพตนเอง และพฤติกรรมสุขภาพ มีอิทธิพลทางลบต่อความเสี่ยง สำหรับเพศหญิง การศึกษาประถมศึกษา และอาชีพค้าขาย / ธุรกิจส่วนตัว มีอิทธิพลทางบวกต่อความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุ ควรตระหนักถึงปัจจัยดังกล่าวมา เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินงานในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุต่อไป