การจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยแห่งความสำเร็จสำหรับการฝึกอบรม พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
คำสำคัญ:
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ, การฝึกอบรม, พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน, กระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยแห่งความสำเร็จของการฝึกอบรมหลักสูตรขั้นพื้นฐานของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยใช้ระเบียบวิธีของกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ (Analysis Hierarchy Process; AHP)โดยกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวนสองกลุ่มคือ ครูฝึกอบรมที่มีประสบการณ์การฝึกอบรมไม่ต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 15 คน และผู้ผ่านการฝึกอบรมซึ่งมีผลการประเมินระดับดีมาก จำนวน 15 คน จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องสามารถระบุดัชนีชี้วัดความสำเร็จเบื้องต้นจำนวน 4 ดัชนี และปัจจัยแห่งความสำเร็จเบื้องต้นจำนวน 12 ปัจจัย จากนั้นนำดัชนีชี้วัดความสำเร็จและปัจจัยแห่งความสำเร็จเบื้องต้นที่ได้มาประเมินความเหมาะสมในบริบทของประเทศไทยก่อนที่จะนำมาสร้างตัวแบบเพื่อการตัดสินใจตามระเบียบวิธี AHP ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่มีความสำคัญสามลำดับแรกในมุมมองของกลุ่มครูฝึกอบรมคือ วิทยากรมีความรู้ความสามารถ การสร้างบรรยากาศที่ดีในการฝึกอบรม และการมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ตามลำดับ ส่วนปัจจัยแห่งความสำเร็จที่มีความสำคัญสามลำดับแรกในมุมมองของกลุ่มผู้ผ่านการฝึกอบรมคือ วิทยากรมีความรู้ความสามารถ การสร้างบรรยากาศที่ดีในการฝึกอบรม และการคัดเลือกวิทยากร ตามลำดับ อย่างไรก็ตามผลของการทดสอบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของลำดับความสำคัญที่จัดโดยผู้เชี่ยวชาญสองกลุ่ม ด้วยวิธีของ สเปียร์แมน (Spearman Rank Correlation) พบว่า ลำดับความสำคัญของปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จัดโดยผู้เชี่ยวชาญสองกลุ่มมีความสัมพันธ์กันที่ระดับนัยสำคัญ 0.05