รูปแบบการจัดการชลประทานระบบท่อที่เหมาะสม
คำสำคัญ:
ชลประทาน, ระบบท่อ, รูปแบบบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาพัฒนาการของการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และ (2) ศึกษารูปแบบการจัดการชลประทานระบบท่อที่เหมาะสม กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ประชาชนบ้านนาขาม จำนวน 147 ครัวเรือน วิธีการเก็บข้อมูล ได้แก่ การออกภาคสนาม การถ่ายภาพพื้นที่ การสัมภาษณ์คนในชุมชน การสนทนากลุ่ม และการระดมสมองทีมวิจัย โดยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยคือ (1) พัฒนาการของการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การนำภูมิปัญญามาใช้ในการจัดการน้ำ เพื่อใช้ในการพยากรณ์ปริมาณน้ำ การพยากรณ์การมีฝน และการเปลี่ยนฤดูกาล ส่วนเรื่องการจัดการน้ำดื่มในอดีตใช้วิธีการขุดบ่อตื้น และปั้นโอ่งรองรับน้ำ และน้ำสำหรับการเกษตรใช้น้ำจากลำห้วยและหนองน้ำ อุปกรณ์ที่ใช้คือ กระป๋องปี๊บและกะโซ้ ใช้เป็นอุปกรณ์ใน การทดน้ำ การทำนบโดยใช้กระสอบทราย และใช้น้ำบ่อบาดาลแบบคันโยก (2) รูปแบบการจัดการชลประทานระบบท่อที่เหมาะสม มีการบูรณาการการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการบริหารจัดการน้ำได้แบ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำออกเป็น 4 กลุ่มตามสภาพพื้นที่ทางการเกษตรและสภาพภูมิประเทศ โดยแต่ละกลุ่มมีคณะกรรมการประจำกลุ่มและร่วมกันตั้งกฎกติกา ได้แก่ กลุ่มนาวี กลุ่มนาเชือก กลุ่มนาแก และกลุ่มนาสะแบง