รูปแบบการจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายผ้ากาบบัวจากชุมชนสู่ตลาด
คำสำคัญ:
รูปแบบการจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย, ผ้ากาบบัวชุมชนบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ (1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อช่องทางการจัดจำหน่ายผ้ากาบบัวชุมชน
(2) เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลและคุณลักษณะของผู้ประกอบธุรกิจผ้ากาบบัวและของผู้บริโภคกับการตัดสินใจใช้รูปแบบการจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายผ้ากาบบัวชุมชน (3) เพื่อค้นหารูปแบบการจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายผ้ากาบบัวจากชุมชนสู่ตลาด ประชากรที่ศึกษาได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจผ้ากาบบัวในจังหวัดอุบลราชธานีและผู้บริโภคในจังหวัดกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ กลุ่มผู้บริหารผู้ประกอบธุรกิจผ้ากาบบัวจำนวน 133 คน และผู้บริโภคจำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพื้นฐาน ส่วนการทดสอบสมมติฐานในเชิงเปรียบเทียบโดยใช้ t-test และ F-test และทำการทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีเชฟเฟ่ ผลการวิจัย พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สถานภาพสมรส การศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา มีคุณลักษณะชอบการรวมกลุ่มอาชีพ ต้องการให้ชุมชนมีการพัฒนา มีวิถีชีวิตเป็นเกษตรกร สำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สถานภาพสมรส การศึกษาอยู่ในระดับสูงกว่าปริญญาตรี คุณลักษณะพฤติกรรมการแต่งกายด้วยผ้ากาบบัว ชอบความเป็นเอกลักษณ์ ต้องการการยอมรับจากสังคม ประสบการณ์ใช้ผ้ากาบบัวบ่อยครั้ง ดังนั้นจากปัจจัยส่วนบุคคลและคุณลักษณะของผู้บริโภคที่มีต่อการตัดสินใจในรูปแบบการจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้ประกอบธุรกิจผ้ากาบบัวต้องการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปสู่ผู้บริโภคให้ทั่วถึงมากที่สุด ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า (1) ปัจจัยส่วนบุคคลและคุณลักษณะของผู้ประกอบธุรกิจที่แตกต่างกัน มีผลต่อการตัดสินใจแตกต่างกัน ในการจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย (2)ปัจจัยส่วนบุคคลและคุณลักษณะของผู้บริโภคที่แตกต่างกันมีผลต่อการตัดสินใจแตกต่างกัน ในการจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้ประกอบธุรกิจผ้ากาบบัว และ (3) รูปแบบการจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายผ้ากาบบัวจากชุมชนสู่ตลาดเป็นรูปแบบช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ต้องการให้มีการขยายไปสู่ผู้บริโภคได้ทั่วถึงมากที่สุด