ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอย
คำสำคัญ:
การเรียนรู้, การมีส่วนร่วมของประชาชน, การจัดการขยะมูลฝอยบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชนในเขตตำบลวังบ่อ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ 2) เพื่อศึกษาประเภท ปริมาณ ของขยะมูลฝอยในเขตตำบลวังบ่อ 3) เพื่อนำไปพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอยของตำบลวังบ่อ กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาสภาพปัญหาและการเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยของตำบลวังบ่อ จำนวน 351 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นผู้ที่มีบทบาทในการจัดการขยะมูลฝอยบ้านวังบ่อ หมู่ที่ 9 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบบันทึกการสังเกต แบบบันทึกการจัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน และแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ คะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ Paired t-test และ F-test (One-way ANOVA) ผลการวิจัยมีดังนี้ 1) สภาพปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ตัวแทนครัวเรือน จำนวน 351 คน มีระดับปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอยอยู่ในระดับสูง 2) การศึกษาประเภท ปริมาณ ของขยะมูลฝอยในเขตตำบลวังบ่อ ในภาพรวม มีปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด 2,728.95 กิโลกรัม 3) รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของประชาชน ตามหลัก 7Rs และใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ ขั้นการรับรู้ ขั้นการคิดวิเคราะห์ ขั้นการวางแผนแก้ปัญหา ขั้นปฏิบัติตามแผน และขั้นการประเมินผล ในการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน