ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดปทุมธานี

ผู้แต่ง

  • ศศิพิมพ์ คำกรฤาชา หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเอกการบริหารการพยาบาล มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย

คำสำคัญ:

คุณภาพชีวิตการทำงาน, พยาบาลวิชาชีพ, โรงพยาบาลชุมชน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ  (2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล  ลักษณะงาน  สภาพแวดล้อมในงานกับคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ  (3) ศึกษาปัจจัยที่สามารถร่วมกันทำนายคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ  โรงพยาบาลชุมชน  จังหวัดปทุมธานี  กลุ่มตัวอย่าง  ได้แก่พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน  จังหวัดปทุมธานี  จำนวน 208 คน  กลุ่มตัวอย่างถูกสุ่มโดยใช้การสุ่มแบบมีระบบ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งถูกตรวจสอบคุณภาพด้านความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่านและทดลองใช้ในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน  วิเคราะห์ความเที่ยงด้วยสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคได้ค่าความเที่ยงในส่วนลักษณะงาน สภาพแวดล้อมในงานและคุณภาพชีวิตการทำงานเท่ากับ .86, .79 และ .92 ตามลำดับ  สถิติที่ใช้ คือ ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ผลการศึกษาพบว่า  คุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง  ( ± SD = 3.44± .66) ปัจจัยลักษณะส่วนบุคคลด้านอายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาการปฏิบัติงานและรายได้ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ ส่วนปัจจัยลักษณะส่วนบุคคลด้านสถานภาพสมรส ด้านลักษณะงานและสภาพแวดล้อมในงานมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตการทำงาน (r = .15, .42, และ .74 ตามลำดับ) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 ตัวแปรที่สามารถร่วมกันทำนายคุณภาพชีวิตการทำงานมี 5 ตัวแปรได้แก่  ความมีอิสระในการทำงานและความสำคัญของงานซึ่งเป็นองค์ประกอบของตัวแปรลักษณะงาน ส่วนตัวแปรทำนายอื่นได้แก่ ความเป็นอิสระของหน่วยงาน  ความกดดันในงานและความยึดเหนี่ยวระหว่างผู้ร่วมงาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบในตัวแปรสภาพแวดล้อมในงาน  ตัวแปรเหล่านี้สามารถร่วมกันทำนายความแปรปรวนของตัวแปรคุณภาพชีวิตการทำงานได้ร้อยละ 60.2

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2015-07-29

ฉบับ

บท

บทความวิจัย