คุณภาพบริการในห้องคลอดตามความคาดหวังและการรับรู้ของมารดาคลอดในโรงพยาบาลนครนายก
คำสำคัญ:
คุณภาพบริการตามความคาดหวัง, คุณภาพบริการตามการรับรู้, มารดาคลอดบทคัดย่อ
การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณา เพื่อ (1) ศึกษาคุณภาพบริการตามความคาดหวังและการรับรู้ (2) เปรียบเทียบความแตกต่างของคุณภาพบริการตามความคาดหวังและการรับรู้ (3) เปรียบเทียบคุณภาพบริการตามความคาดหวังระหว่างกลุ่มด้านการศึกษา อาชีพ สิทธิในการรักษา และประสบการณ์การรับบริการ (4) ศึกษาความสัมพันธ์ของคุณภาพบริการตามความคาดหวังกับอายุ รายได้ ระดับความต้องการในการรับบริการและการรับรู้ข้อมูลการบริการ กลุ่มตัวอย่าง คือ มารดาคลอดในช่วงเดือนกรกฎาคม2555ถึงเดือนมกราคม2556 จำนวน 210 คน เครื่องมือประกอบด้วย 1.ข้อมูลทั่วไป 2.คุณภาพบริการในห้องคลอดตามความคาดหวัง 3.คุณภาพบริการในห้องคลอดตามการรับรู้ สถิติที่ใช้ได้แก่ร้อยละ, ค่าเฉลี่ย, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน, สถิติที, การวิเคราะห์ความแปรปรวน กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัยพบว่าคุณภาพบริการตามความคาดหวังอยู่ในระดับมากที่สุด (M = 6.47 , SD = .67) และการรับรู้อยู่ในระดับมากที่สุด (M = 6.20 , SD = .66) คุณภาพบริการตามความคาดหวังและการรับรู้โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 คุณภาพบริการตามความคาดหวังระหว่างกลุ่มด้านการศึกษา อาชีพ สิทธิในการรักษา ระดับความต้องการการรับบริการและการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการโดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 คุณภาพบริการตามความคาดหวังกับระดับความต้องการการรับบริการ การรับรู้ข้อมูลการบริการโดยการบอกเล่าปากต่อปากและโดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05