ความพึงพอใจของผู้รับบริการในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
คำสำคัญ:
ความพึงพอใจของผู้รับบริการ, แผนกผู้ป่วยนอก, โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความพึงพอใจของผู้รับบริการ (2) เปรียบเทียบความแตกต่างของคุณลักษณะของผู้รับบริการ คุณลักษณะของการรับบริการ กับความพึงพอใจผู้รับบริการ (3) ศึกษาความสัมพันธ์ของคุณลักษณะของผู้รับบริการ คุณลักษณะของการรับบริการ คุณลักษณะของระบบบริการ กับความพึงพอใจผู้รับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกลุ่มตัวอย่างในการศึกษา คือ ผู้รับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 430 คน โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติพรรณานา สถิติที (Independent t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One Way ANOVA)และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation analysis)ผลการวิจัยพบว่า (1) ความพึงพอใจของผู้รับบริการ ด้านคุณภาพการบริการ ด้านข้อมูลที่ได้รับจากผู้ให้บริการ ด้านอัธยาศัยและความสนใจของผู้ให้บริการ ด้านค่าใช้จ่ายเมื่อใช้บริการ อยู่ในระดับมาก ส่วนด้านการประสานงานของงานบริการ และด้านความสะดวกที่ได้รับจากการบริการ อยู่ในระดับปานกลาง (2) ผู้รับบริการที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันในด้านอาชีพ จุดประสงค์ของการมารับบริการ บุคคลที่ให้ข้อมูลข่าวสาร และแผนกที่มารับบริการมีความพึงพอใจต่อการบริการอย่างแตกต่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนผู้รับบริการที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันในด้านสถานภาพสมรส การศึกษา สิทธิในการรักษา ความถี่ของการมารับบริการ และแหล่งข้อมูลข่าวสารมีความพึงพอใจต่อการบริการไม่แตกต่างกัน (3) รายได้ ความรุนแรงของการเจ็บป่วย ประสบการณ์ในการมารับบริการ การแนะนำให้มารับบริการ จำนวนผู้ให้บริการ เวลาที่ใช้ ณ จุดคัดกรอง และ เวลาที่ใช้ ณ จุดรับบัตรนัด มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจของผู้รับบริการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 ส่วน อายุ (ปี) จำนวนครั้งของการมารับบริการในโรงพยาบาลเวลาที่ใช้ ณ จุดเข้ารับการตรวจ และเวลาที่ใช้ ณ จุดรับยาที่ห้องยา ไม่มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจของผู้รับบริการ