การจัดการการผลิต ปัจจัยที่สัมพันธ์กับต้นทุนและผลตอบแทนการเลี้ยงโคเนื้อปล่อยแทะเล็มในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
คำสำคัญ:
โคเนื้อ, ต้นทุน, ผลตอบแทน, ปัจจัยการผลิตบทคัดย่อ
เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อส่วนใหญ่จะเลี้ยงแบบปล่อยหากินตามธรรมชาติ โดยจะลงทุนหลักเพียงครั้งเดียว คือ การซื้อลูกโคมาเลี้ยงและเลี้ยงแบบปล่อยตามข้างถนนหรือแปลงหญ้าสาธารณะ วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนในการเลี้ยงโคเนื้อแบบปล่อยแทะเล็ม โดยทำการศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุ่มตัวอย่างชนิดสุ่มตัวอย่างโดยไม่ใช้ความน่าจะเป็น แบบบังเอิญหรือตามความสะดวก ในขณะที่ผู้วิจัยลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษา เป็นจำนวน 175 ราย โดยใช้แบบสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทนของการเลี้ยงโคเนื้อ ผลการวิจัยพบว่า 1. ด้านข้อมูลพื้นฐาน พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 70.28 มีสถานะภาพสมรสมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 79.42 และมีจำนวนสมาชิกภายในบ้านที่ทำงานเลี้ยงโคเนื้อเพียงคนเดียวมากที่สุดถึงร้อยละ 70.28 เกษตรกรเลี้ยงโคปล่อยแทะเล็มข้างถนนมีอาชีพรับจ้างเป็นอาชีพหลัก คิดเป็นร้อยละ 52.57 2. ด้านต้นทุนการเลี้ยงโคเนื้อแบบปล่อยแทะเล็ม มีต้นทุนค่าแรงงาน 6,000 – 9,000 บาทต่อเดือน ต้นทุนค่าพันธุ์โค 83.33 – 416.67 บาทต่อเดือน ต้นทุนค่ารักษาโรค 101 – 500 บาทต่อเดือน และค่าเสียโอกาสในการลงทุน 42 – 210 บาทต่อเดือน โดยคิดเป็นต้นทุนทั้งหมด 6,226.33 – 10,126.67 บาทต่อเดือน ส่วนผลตอบแทนในการเลี้ยงโคเนื้อ พบว่าเกษตรกรจะมีรายได้ในช่วง 8,333.75 – 12,500 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นกำไรจากการเลี้ยงโคเนื้อคือ 2,107.42 – 2,373.33 บาทต่อเดือน แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สัมพันธ์กับต้นทุนนั้นไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจน สรุปผลวิจัยได้ว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับต้นทุนซึ่งส่งผลให้ต้นทุนมีความไม่ชัดเจนและบ่งชี้ได้ยาก ได้แก่ แรงงานแฝงในครอบครัว ซึ่งไม่สามารถคำนวณต้นทุนค่าแรงงานได้ นอกจากนี้ค่าสาธารณูปโภค อาทิเช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ ไม่สามารถจำแนกได้ว่า มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงโคเท่าไร เนื่องจากเกษตรกรใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคเหล่านี้ร่วมกันกับการดำเนินชีวิตประจำวันโดยปกติ