ผลของโปรแกรมส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนต่อคุณภาพการฟื้นตัวหลังผ่าตัดและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอว
คำสำคัญ:
การรับรู้สมรรถนะแห่งตน, การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน, การฟื้นตัวหลังผ่าตัด, โปรแกรมส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะ, ผู้ป่วยผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอวบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนต่อคุณภาพการฟื้นตัวหลังผ่าตัดและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอวตามทฤษฎีการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของแบนดูรา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอว โรงพยาบาลทหารผ่านศึก จำนวน 50 ราย คัดเลือกแบบสะดวกตามคุณสมบัติที่กำหนด แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 25 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตน ตั้งแต่เข้ารับการรักษาจนถึงวันนัดติดตามอาการ เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการวิจัยประกอบด้วย โปรแกรมส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตน แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย แบบประเมินคุณภาพการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (QOR-15) และแบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน (barthel index) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติ Repeated Measures ANOVA ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มทดลองหลังได้รับโปรแกรม (1) มีคะแนนคุณภาพการฟื้นตัวสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) และ (2) มีคะแนนความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันสูงกว่ากลุ่มควบคุมในช่วง 24 ชม.หลังผ่าตัดและวันที่ 3 หลังผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) อย่างไรก็ตามในวันนัดติดตามอาการกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีคะแนนความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันไม่แตกต่างกัน การวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าพยาบาลวิชาชีพควรนำโปรแกรมส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนมาเพิ่มเติมจากการพยาบาลตามปกติเพื่อเพิ่มคุณภาพในการให้การพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอว