ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม การป้องกันและวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

ผู้แต่ง

  • ทิพพารัตน์ แสนคาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ธนัช กนกเทศ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

คำสำคัญ:

ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านม, วิธีการป้องกันมะเร็งเต้านม, วิธีการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง

บทคัดย่อ

โรคมะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่สำคัญทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชากรและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันมีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 1.2 ล้านคนต่อปีทั่วโลกและในต่างประเทศ คือในผู้หญิง 8 คนจะมีคนเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ 1 คน (Breast Cancer Network Australia, 2010) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของประเทศไทยพบว่าโรคมะเร็งเต้านม เป็นปัญหาสาธารณสุขซึ่งมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุกปีจากข้อมูลทะเบียนมะเร็งทั่วประเทศของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สาเหตุการเกิดไม่แน่ชัด ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะการเกิดโรคไม่ได้เกิดเพียงปัจจัยเดียว มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่การค้นพบโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกโดยการตรวจคัดกรองจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรง และสามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ รวมทั้งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลง (National Cancer Institute, 2016) ซึ่งสมาคมมะเร็งประเทศสหรัฐอเมริกาได้เสนอแนะให้สตรี ตรวจเต้านมตนเองร่วมกับการตรวจโดยเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป (American Cancer Society, 2010)  โดยการตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำเดือนละครั้ง มีหลักฐานสนับสนุนว่าสตรีที่มีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะใน การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มที่จะได้รับการค้นพบมะเร็งและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ประมาณร้อยละ 20-40 นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 88 ของสตรีที่ได้รับการวินิจฉัย ว่าเป็นมะเร็งเต้านมในระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย จะมีชีวิตรอดอย่างน้อย 5 ปี ภายหลังการวินิจฉัย ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม การป้องกันและการตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงเป็นสัญญาณของการลดอัตราการเจ็บป่วย ความชุก อุบัติการณ์ และการเสียชีวิตลงของสตรีได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-25