พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ
คำสำคัญ:
พฤติกรรม, การดูแลสุขภาพตนเอง, ผู้สูงอายุบทคัดย่อ
บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวคิดพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเอง โดยมุ่งเน้นในกลุ่มวัยผู้สูงอายุ ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบแนวโน้มจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติประชากรผู้สูงอายุในปี พ.ศ.2560 คิดเป็น 16.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน คือปี พ.ศ.2550 มีผู้สูงอายุเพียง 10.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจากการคาดประมาณของกองทุนประชากรแห่งสหประชาติ (United Nations Fund for Population Activities) ระบุว่าในปี ค.ศ.2030 ประชากรผู้สูงอายุไทยจะมีมากถึง 25% ของจำนวนประชากรทั้งหมด กลุ่มวัยผู้สูงอายุนอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหรือด้านร่างกายแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมด้วย ทั้งนี้ผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง ซึ่งจำเป็นต้องมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อลดอุบัติการณ์ในการเกิดภาวะพึ่งพิง โดยเฉพาะในกลุ่มติดบ้านและติดเตียงให้ได้มากที่สุด รูปแบบพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ มีหลายรูปแบบ ได้แก่ พฤติกรรมการดูแลตนเองที่จำเป็นโดยทั่วไป เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์, การดื่มน้ำให้เพียงพอ ฯลฯ พฤติกรรมการดูแลตนเองตามระยะพัฒนาการ เช่น การยอมรับการเปลี่ยนแปลง, การทำตนให้เป็นที่เคารพรัก ฯลฯ และพฤติกรรมการดูแลตนเองที่จำเป็นเมื่อมีปัญหาทางสุขภาพ เช่น การใช้บริการระบบบริการสาธารณสุข, การไปรับการตรวจจากแพทย์ ฯลฯ ทั้งนี้การมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป รวมทั้งลดแนวโน้มการเกิดภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุและลดค่าใช้จ่ายจากทางภาครัฐ ในการใช้งบประมาณกับการจัดระบบการดูแลระยะยาวให้แก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงอีกด้วย