อุบัติการณ์และความชุกของการใช้ยาและสารเสพติดในการประกอบอาชญากรรม: กรณีศึกษาโรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพมหานคร
คำสำคัญ:
การมอมยาประกอบอาชญากรรม,การมอมยาล่วงละเมิดทางเพศ,ยาเสียสาว,พิษวิทยาบทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อหาอุบัติการณ์และความชุกของยาและสารเสพติดแต่ละชนิดที่ใช้ในการประกอบอาชญากรรม โดยทำการเก็บข้อมูลจากผลตรวจทางพิษวิทยาของผู้เสียหายที่สงสัยว่าถูกมอมยาประกอบอาชญากรรมทุกรายที่เข้ารับการตรวจ ณ ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลตำรวจในระหว่างเดือน มกราคม 2553 ถึงธันวาคม 2558 รวมระยะเวลา 6 ปี ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่าง 875 ราย โดยรวมมีผลการตรวจพบยาหรือสารเสพติดอย่างน้อยหนึ่งชนิด จำนวน 427 ราย (ร้อยละ 48.8) จากจำนวนยาและสารเสพติดที่ตรวจพบกว่า 30 ชนิดพบยาในกลุ่ม Benzodiazepines มากที่สุดรวม 328 ราย (ร้อยละ 37.5) ยาที่มีความชุกสูงสุด คือ Alprazolam จำนวน 214 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด รองลงมาคือ Diazepam จำนวน 26 ราย (ร้อยละ 3.0) และ Midazolam จำนวน 24 ราย (ร้อยละ 2.7) ทั้งนี้มีผู้เสียหายจำนวน 39 รายที่ผลการตรวจวิเคราะห์ทางพิษวิทยาพบ Temazepam และ Oxazepam ซึ่งไม่สามารถระบุชนิดของตัวยาเดิมที่แท้จริงได้และสารเสพติดที่มีความชุกสูงสุด คือ Methamphetamine จำนวน 43 ราย (ร้อยละ 4.9) นอกจากนี้ยังตรวจพบยาและสารเสพติดร่วมกันมากกว่าหนึ่งชนิดในผู้เสียหาย 57ราย (ร้อยละ 6.5)