การประเมินจำนวนเซลล์มีชีวิตของ Clostridium beijerinckii TISTR 1461 ระหว่างการผลิตบิวทานอลจากกากน้ำตาลด้วยเทคนิคโฟลไซโทเมทรี

ผู้แต่ง

  • Kantima Sirisantimethakom Faculty of Agro Industrial Technology, Kalasin University
  • Kitipong Wechgama Faculty of Agro Industrial Technology, Kalasin University
  • Likit Sirisantimethakom Faculty of Agro Industrial Technology, Kalasin University

คำสำคัญ:

การหมักแบบกะ, บิวทานอล, กากน้ำตาล, โฟลไซโทเมทรี

บทคัดย่อ

บิวทานอลสามารถผลิตได้จากกระบวนการหมักอะซีโตน-บิวทานอล-เอทานอล (เอบีอี) ในกระบวนการหมักแบบกะโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้ 2 ระยะ คือ ระยะการสร้างกรดและการสร้างตัวทำละลาย วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือประเมินจำนวนเซลล์ที่มีชีวิตของ Clostridium beijerinckii TISTR 1461 สำหรับการผลิตบิวทานอลจากกากน้ำตาลในระบบการหมักแบบกะด้วยเทคนิคโฟลไซโทเมทรี จากผลการทดลอง พบว่า การผลิตบิวทานอลจากกากน้ำตาลสามารถผลิต
บิวทานอลและเอบีอีมีค่าเท่ากับ 7.39±0.14 และ 11.96±0.29 กรัมต่อลิตร ตามลำดับ ที่ชั่วโมงที่ 60 ของการหมัก และในระยะของการสร้างกรด (ชั่วโมงที่ 24 ของการหมัก) จำนวนเซลล์ที่มีชีวิตในกากน้ำตาล คือ 71.75 ± 2.76 เปอร์เซ็นต์ และมีปริมาณบิวทานอลเท่ากับ 2.69±0.01 กรัมต่อลิตร ในชั่วโมงที่ 72 (ระยะการสร้างตัวทำละลาย) จำนวนเซลล์ที่มีชีวิตในกากน้ำตาล คือ 4.90 ± 1.56 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลานี้มีปริมาณบิวทานอลเท่ากับ 7.33 ± 0.07 กรัมต่อลิตร ในระหว่างช่วงระยะการสร้างตัวทำละลาย จำนวนเซลล์ที่มีชีวิตของ C. beijerinckii TISTR 1461 มีจำนวนลดลง ในขณะที่ความเข้มข้นของบิวทานอลมีค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้น พบว่าเทคโนโลยีของโฟลไซโทเมทรีมีศักยภาพในการประเมินจำนวนเซลล์ที่มีชีวิตของ C. beijerinckii TISTR 1461 ในกระบวนการผลิตบิวทานอลและความเข้มข้นของบิวทานอลมีผลต่อจำนวนเซลล์ที่มีชีวิตของ C. beijerinckii TISTR 1461

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-04-25

ฉบับ

บท

บทความวิจัย