ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุ ในเขตชนบท จังหวัดพิษณุโลก
คำสำคัญ:
กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ, ผู้สูงอายุ, ชมรมผู้สูงอายุบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุในเขตชนบท จังหวัดพิษณุโลกโดยใช้แบบสอบถาม (Questionaire) ใช้สูตรในการคำนวณตัวอย่างของเครจซีและมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970) ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ได้จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 119 ชมรม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุคูณแบบขั้นตอน (Stepwise multiple regression analysis ) ผลการศึกษาพบว่า (1) ชมรมผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใช้สถานที่ดำเนินการที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร้อยละ 68.9 รองลงมาตั้งอยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบลร้อยละ 13.4 ระยะเวลาในการก่อตั้งชมรมส่วนใหญ่ 7– 10 ปี ร้อยละ 29.4 รองลงมาคือ 4 – 6 ปี ร้อยละ 26.1 จำนวนสมาชิกของชมรมส่วนใหญ่มีจำนวนสมาชิก 101- 200 คน ร้อยละ 30.94 รองลงมามีจำนวนสมาชิก 30-100 คน ร้อยละ 28.56 จำนวนหมู่บ้านที่อยู่ในชมรมส่วนใหญ่ 6-10 หมู่บ้าน ร้อยละ 46.2 รองลงมา 1-5 หมู่บ้าน ร้อยละ 41.2 แหล่งงบประมาณ/สิ่งสนับสนุนส่วนใหญ่ได้รับจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ47.9 และร้อยละ 41.2 ตามลำดับ (2) ระดับการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุ จังหวัดพิษณุโลก อยู่ในระดับมาก ด้านที่มีระดับการจัดกิจกรรมสูงที่สุดคือด้านความรับผิดชอบต่อสุขภาพตนเอง รองลงมาคือการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ (3) ปัจจัยด้านที่ตั้งชมรม แรงจูงใจ การสื่อสารในองค์กร จำนวนหมู่บ้านที่รับผิดชอบ ภาวะผู้นำ ระยะเวลาตั้งชมรม สามารถร่วมทำนายการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุ จังหวัดพิษณุโลก ได้ร้อยละ 40.4 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5