การพัฒนาแนวปฏิบัติการป้องกันการตกเลือดหลังคลอดระยะแรกในห้องคลอด โรงพยาบาลกระบี่
คำสำคัญ:
ตกเลือดหลังคลอด, แนวทางปฏิบัติ, ห้องคลอดบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการป้องกันการตกเลือด
หลังคลอดระยะแรก ในห้องคลอดดำเนินการเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ระยะเตรียมการ ระยะที่ 2 ระยะดำเนิน
การ และระยะที่ 3 ระยะประเมินผล กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้ใช้แนวปฏิบัติการป้องกันการตกเลือด
หลังคลอดระยะแรก จำนวน 11 คน 2) กลุ่มมารดาที่มีความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด ที่เข้าพักรักษาใน
โรงพยาบาลกระบี่ จำนวน 568 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการ
วิจัย ได้แก่ แบบบันทึกการวิเคราะห์มารดาตกเลือดหลังคลอด แนวทางปฏิบัติการป้องกันการตกเลือดหลังคลอด
ระยะแรก และแบบประเมินการใช้แนวทางปฏิบัติการป้องกันการตกเลือดหลังคลอดระยะแรก 2) เครื่องมือที่ใช้
ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกตัวชี้วัดคุณภาพการป้องกันการตกเลือดหลังคลอด แบบสอบถามความ
พึงพอใจของพยาบาล และแบบสอบถามความพึงพอใจของมารดาหลังคลอด ทดสอบความเที่ยงของแบบสอบถาม
โดยสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงของแบบสอบถามเท่ากับ .89 และ .84 ตามลำดับ วิเคราะห์
ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ค่าเฉลี่ย และร้อยละ ผลการศึกษา พบว่า
1. แนวปฏิบัติการป้องกันการตกเลือดหลังคลอดระยะแรกในห้องคลอด ประกอบด้วย การดูแล 3 ระยะ
คือ 1) ระยะก่อนคลอดซักประวัติ ประเมินความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอดโดยใช้ 4Ts เจาะ CBC ติดสติ๊กเกอร์
สีแดงที่หน้าป้าย และนำ Partograph มาใช้ในการดูแลมารดาคลอด 2) ระยะคลอดสวนปัสสาวะ ติดตาม
สัญญาณชีพ ช่วยคลอดในระยะที่ 3 ของการคลอดทำ Active Management of the Third Stage of Labor
และ 3) ระยะหลังคลอดให้การดูแลหลังคลอด 2 ชั่วโมงแรกในห้องคลอด และการดูแลก่อนย้ายไปหอผู้ป่วย
สูติกรรม
2. ผลลัพธ์การปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการป้องกันการตกเลือดหลังคลอดระยะแรก พบว่า อัตราการ
ตกเลือดหลังคลอดลดลงเหลือร้อยละ 0.18 ไม่พบอัตราการเกิดภาวะช็อกจากการตกเลือดหลังคลอด อัตรามารดา
ถูกตัดมดลูกจากการเสียเลือด และมารดาตายจากการตกเลือดหลังคลอด ความพึงพอใจของพยาบาลต่อการใช้
แนวปฏิบัติเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อครั้งลดลง ส่งผลให้มารดาหลังคลอดมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การพัฒนาแนวปฏิบัติป้องกันการตกเลือดหลังคลอด จึงเป็นแนวทางสำหรับพยาบาลใช้เป็น
แนวทางในการดูแลมารดาคลอดที่มีความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด ไม่ให้เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด และ
ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
Downloads
ฉบับ
บท
License
1. บทความหรือข้อคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารเครือข่าย วิทยาลัยพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้ ที่เป็นวรรณกรรมของผู้เขียน บรรณาธิการหรือเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลและวิทยาลัยการสาธารณสุขภาคใต้ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
2. บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ วารสารเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้