ความต้องการและความคาดหวังของย่า-ยายต่อการสนับสนุนทางสังคม ของพยาบาลในตึกหลังคลอดในจังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • ปรางทิพย์ ท. เอลเทอร์
  • รัชนี ชุนเกาะ
  • บรรทม ใจสำราญ
  • ศิริพร คงชีพ
  • จิตไพบูล พระธานี
  • นุชมาศ แก้วกุลฑล
  • น้ำฝน ไวทยวงศ์กร

คำสำคัญ:

การสนับสนุนทางสังคม, ความต้องการและความคาดหวัง, ย่า-ยาย

บทคัดย่อ

        การสนับสนุนทางสังคมมีบทบาทสำคัญ ต่อความสำเร็จในการปรับตัวต่อบทบาทมารดา ในสังคมวัฒนธรรม
ของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แหล่งสนับสนุนทางสังคมที่สำคัญของมารดาหลังคลอดและทารกแรกเกิด คือ
ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ได้แก่ มารดา (ยาย) หรือมารดาของสามี (ย่า) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ดูแลที่ควรได้รับการพัฒนาศักยภาพ
ในการดูแลมารดาและทารก ก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล แต่การศึกษาความต้องการการสนับสนุนทาง
สังคมจากพยาบาลตึกหลังคลอดของย่า-ยายยังมีน้อย การวิจัยเชิงบรรยายนี้มีจุดประสงค์เพื่อค้นหาการสนับสนุน
ทางสังคมที่ย่า-ยายต้องการเพื่อการดูแลมารดาและทารกหลังคลอดอย่างเหมาะสม กลุ่มตัวอย่าง คือ ย่า-ยาย
ที่มาเยี่ยมสตรีหลังคลอด ณ ตึกสูติกรรม 1 และ 2 โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ในระหว่าง เดือนกันยายน
พ.ศ.2555 – มกราคม พ.ศ.2556 จำนวน 102 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ความต้องการการสนับสนุน
ทางสังคมของย่า-ยาย ที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้น ผ่านการตรวจสอบคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน และ
นำไปทดลองสัมภาษณ์ย่า-ยายที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน เพื่อทดสอบความเป็นได้ของการดำเนินการ
สัมภาษณ์เมื่อนำไปใช้จริง บันทึกผลการสัมภาษณ์ด้วยมือหรือโปรแกรมบันทึกเสียง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการ
วิเคราะห์แนวคิดหลัก ผลการศึกษาพบว่า ย่า-ยาย ต้องการให้พยาบาลสนับสนุนทางสังคมแบบ “เป็นกันเอง
เหมือนญาติพี่น้อง” ใน 3 ด้าน คือ ด้านคำแนะนำจากพยาบาลในการดูแลมารดาและทารกหลังคลอด ด้านความ
ต้องการการบริการของพยาบาล และด้านบุคลิกลักษณะและปฏิสัมพันธ์ของพยาบาล ผลการวิจัยดังกล่าวสามารถ
นำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการพยาบาลมารดาและทารก ที่ส่งเสริมบทบาทของย่า-ยายในการดูแล
หลังคลอด

Downloads