ปัจจัยทำนายพฤติกรรมออกกำลังกายของผู้สูงอายุ จังหวัดสงขลา

ผู้แต่ง

  • จรรเพ็ญ ภัทรเดช

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมวิธี มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับของปัจจัยทำนาย และระดับพฤติกรรมออกกำลังกายของผู้สูงอายุ จังหวัดสงขลา 2) ศึกษาปัจจัยทำนายพฤติกรรมออก
กำลังกายของผู้สูงอายุ จังหวัดสงขลา 3) ศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมพฤติกรรมออกกำลังกายของผู้สูงอายุ จังหวัดสงขลา ดำเนินการวิจัยเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาปัจจัยเชิงทำนาย กลุ่มตัวอย่าง คือ 
ผู้สูงอายุจากชมรมผู้สูงอายุในจังหวัดสงขลา จำนวน 101 คน คำนวณกลุ่มตัวอย่างโดยใช้โปรแกรม 
G* Power สุ่มตัวอย่างแบบง่าย โดยวิธีจับฉลากแบบไม่คืนที่ เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถามที่ผ่านการหาค่าความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ และหาความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของ
ครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .83 จำแนกเป็น ด้านการรับรู้ประโยชน์ของการออกกำลังกายที่มีต่อร่างกายเท่ากับ .85 ด้านการรับรู้ประโยชน์ของการออกกำลังกายที่มีต่อจิตใจเท่ากับ .82 ด้านคุณค่าการออกกำลังกายเท่ากับ .87 ด้านการรับรู้หลักและวิธีการออกกำลังกายเท่ากับ .88 ด้านทัศนคติเกี่ยวกับการออกกำลังกายเท่ากับ .82 ด้านความพร้อมในการออกกำลังกายเท่ากับ .77 ด้านการรับรู้ปัญหาต่าง ๆ ด้านการออกกำลังกายเท่ากับ .83 และด้านพฤติกรรมการออกกำลังกายเท่ากับ .70 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และสถิติถดถอยเชิงพหุ แบบทีละขั้นตอน ขั้นตอนที่ 2 ศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมกับพฤติกรรมออกกำลังกายของผู้สูงอายุ จังหวัดสงขลา เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามปลายเปิด และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้สูงอายุ ที่มีผลการตรวจสุขภาพอยู่ในระดับดี จำนวน 15 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ผลการศึกษา พบว่า

          1.   ระดับปัจจัยทำนายด้านการรับรู้คุณค่าการออกกำลังกายอยู่ในระดับดี และมีค่าเฉลี่ยสูงสุด(M=4.40, SD=0.72) รองลงมา คือ ปัจจัยด้านการรับรู้ประโยชน์ของการออกกำลังกาย ที่มีต่อร่างกาย(M=4.39, SD=0.68) และปัจจัยที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การรับรู้ปัญหาต่าง ๆ ด้านการออกกำลังกายอยู่ในระดับไม่ดี (M=2.11, SD=1.54) ส่วนระดับพฤติกรรมออกกำลังกายของผู้สูงอายุ จังหวัดสงขลา พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง (M=3.21, SD=0.68)

          2.   ปัจจัยที่สามารถทำนายพฤติกรรมออกกำลังกายของผู้สูงอายุ จังหวัดสงขลา คือ ปัจจัยด้านความพร้อมในการออกกำลังกายของตนเอง (Beta=.41) และสามารถอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมออกกำลังกายของผู้สูงอายุ จังหวัดสงขลา ได้ร้อยละ 16.30 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 
(adj.R2= .16, p≤ .001)

          3.   ปัจจัยที่ส่งเสริมพฤติกรรมออกกำลังกายอีก 5 ด้านคือ 1) ด้านความรู้สึกทางบวกต่อการออกกำลังกาย 2) ด้านอิทธิพลระหว่างกลุ่มบุคคล 3) ด้านอิทธิพลจากสถานการณ์ 4) ด้านความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติพฤติกรรมการออกกำลังกาย และ 5) ด้านพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องเดิม

ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรออกแบบวิธีการออกกำลังกายตามความต้องการของผู้สูงอายุ และตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติที่ดี และกระตุ้นให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสมกับช่วงวัย

คำสำคัญ: พฤติกรรมการออกกำลังกาย, ผู้สูงอายุ, การรับรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกาย

Downloads