การพัฒนารูปแบบการให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมองสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ในชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ

ผู้แต่ง

  • ญนัท วอลเตอร์
  • โรชินี อุปรา
  • ประกายแก้ว ธนสุวรรณ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมองสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ในชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ และ 2) ทดลองและประเมินผลการใช้รูปแบบการให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมองที่ได้พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ที่อาศัยอยู่ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 
ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากและกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังทั้งหมด รวมทั้งสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 76 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบประเมิน Stroke Risk Score Card รูปแบบการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง แบบประเมินความคิดเห็นต่อสื่อวีดิทัศน์ แบบสอบถามวัดความรู้
เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง โดยเครื่องมือดังกล่าวได้รับการตรวจสอบคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา

ผลการศึกษา พบว่ารูปแบบการให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมองสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ เป็นการให้ความรู้โดยใช้สื่อที่ผลิตขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 1) สื่อ วิดีทัศน์ความยาว 10.45 นาที ใช้คำบรรยายเป็นภาษาถิ่นเหนือ (คำเมือง) 2) โปสเตอร์สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง ประกอบด้วยความหมาย สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง อาการ การรักษา และการป้องกันโรคหลอดเลือด สมอง และ 3) แผ่นแม่เหล็กติดตู้เย็นแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 75 ขึ้นไป) เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งกับเนื้อหา ภาพ และเสียงของสื่อวีดิทัศน์ หลังจากกลุ่มตัวอย่างได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองโดยใช้รูปแบบการสอนที่ได้พัฒนาขึ้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80 ) มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์/อัมพาต) และอาการเตือนโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อจำแนกเป็นรายข้อ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบถูกในแต่ละข้อมากกว่าร้อยละ 70

คำสำคัญ: โรคหลอดเลือดสมอง, รูปแบบการให้ความรู้, ท้องถิ่นภาคเหนือ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2016-06-03