อุบัติการณ์ความเสี่ยงหลังการใช้แนวทางการทำนายการผ่าตัดคลอดจาก ภาวะช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของศีรษะทารก
คำสำคัญ:
อุบัติการณ์ความเสี่ยง, แนวทางการทำนายการผ่าตัดคลอด, ภาวะช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของศีรษะทารกบทคัดย่อ
ภาวะช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของศีรษะทารกเป็นปัญหาทางสูติกรรมที่พบบ่อยและเป็นข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดคลอดครั้งแรกซึ่งมีผลต่อภาวะอันตรายต่อมารดาและทารก การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) อุบัติการณ์ความเสี่ยงจากการไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางการใช้คะแนนความเสี่ยงทำนายการผ่าตัดคลอด 2) มุมมอง ความคิดเห็นของผู้ที่ใช้แบบประเมินความเสี่ยงตามแนวทางการทำนายการผ่าตัดคลอด วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างวิธีวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยวิจัยเชิงปริมาณใช้การศึกษาข้อมูลย้อนหลังการปฏิบัติตามแนวทางการทำนายการผ่าตัดคลอด ประชากร คือ หญิงตั้งครรภ์ครบกำหนดที่มารับการคลอดที่โรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงของภาวะช่องเชิงกราน ตามข้อบ่งชี้ แผนกห้องคลอด โรงพยาบาลลำปาง ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ถึง มีนาคม 2561 จำนวน 35 ราย ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้แบบประเมินตามแนวทางการผ่าตัดคลอด จำนวน 5 ราย เครื่องมือ คือ แบบบันทึกข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเกณฑ์ของแบบประเมิน และแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ และข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการศึกษา: 1) จากการศึกษาอุบัติการณ์ความเสี่ยงการใช้แนวทางการทำนายการผ่าตัดคลอด พบว่า 1.1) อุบัติการณ์ความเสี่ยงของมารดา ส่วนใหญ่มีคะแนนความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 71.42 มารดาเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด 1 ราย และต้องตัดมดลูก 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.85 และ 5.71 ตามลำดับ 1.2) อุบัติการณ์ความเสี่ยงของทารก พบว่า ทารกหลังคลอดมีภาวะขาดออกซิเจนของทารกแรกเกิด 14 ราย ภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำในทารกแรกเกิด 11 ราย คิดเป็น ร้อยละ 40.00 และ 31.43 ตามลำดับ 2) มุมมอง ความคิดเห็นของผู้ที่ใช้แบบประเมินความเสี่ยงในด้านคุณค่าและคุณประโยชน์ พบว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพยังไม่ให้ความสำคัญของการใช้แบบประเมินในกลุ่มที่มีคะแนนความเสี่ยงระดับปานกลางและสูงโดยยังคงปฏิบัติตามแนวทางเดิมที่เป็นอยู่
ข้อเสนอแนะ: ควรเสริมสร้างความตระหนักสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ให้เห็นความสำคัญของการใช้แนวทางการประเมินความเสี่ยง และจัดทำเป็นนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อประกันความปลอดภัยของมารดาและทารกและเพื่อคุณภาพของบริการต่อไป
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวารสารวิชาการสุขภาพภาคเหนือ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวารสารวิชาการสุขภาพภาคเหนือ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักอักษรจากวารสารวารสารวิชาการสุขภาพภาคเหนือก่อนเท่านั้น
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสุขภาพภาคเหนือถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใดๆ
อนึ่ง ข้อความและข้อคิดเห็นต่างๆ เป็นของผู้เขียนบทความนั้นๆ ไม่ถือเป็นความเห็นของวารสารฯ และวารสารฯ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับข้อความและข้อคิดเห็นใดๆ ของผู้เขียน วารสารฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาตีพิมพ์ตามความเหมาะสม รวมทั้งการตรวจทานแก้ไขหรือขัดเกลาภาษาให้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนด