การศึกษาภาวะโภชนาการและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะโภชนาการของเด็ก ก่อนวัยเรียน (อายุ 3-5 ปี) ระหว่างโรงเรียนสังกัดสถานศึกษาภาครัฐกับโรงเรียนสังกัดสถานศึกษาภาคเอกชน ในพื้นที่คัดสรร เขตอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

ผู้แต่ง

  • ณัฐธิดา มีสิน
  • อภิชญา ศักดิ์จิรพาพงษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ
  • ประภารัตน์ เศวตเวช มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ
  • ประเสริฐ ประสมรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะโภชนาการและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะโภชนาการของเด็กก่อนวัยเรียน (อายุ 3-5 ปี) ระหว่างโรงเรียนสังกัดสถานศึกษาภาครัฐกับโรงเรียนสังกัดสถานศึกษาภาคเอกชน ในพื้นที่คัดสรร เขตอำเภอเมืองอำนาจเจริญ กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กก่อนวัยเรียน จำนวน 156 คน ครูประจำชั้นและผู้ดูแลจัดการอาหารในโรงเรียน จำนวน 38 คน จากการคำนวณขนาดตัวอย่างด้วยสูตรประมาณค่าสัดส่วนที่มีประชากรจำกัด เก็บรวบรวมข้อมูลภาวะโภชนาการด้วยการชั่งนํ้าหนักและวัดส่วนสูง และแบบสอบถามข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กก่อนวัยเรียน ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ ข้อมูลการปฏิบัติด้านโภชนาการของผู้ปกครอง ทัศนคติเกี่ยวกับภาวะโภชนาการในเด็กก่อนวัยเรียนของครูและผู้ดูแลจัดการอาหารในโรงเรียน มาตรการ นโยบายอาหารของโรงเรียน และการบริหารจัดการอาหารภายในโรงเรียน ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.78, 0.75, 0.92, 0.92, 0.75 และ 0.84 ตามลำดับ โดยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมานด้วย Chi-Square test และ Logistic Regression Analysis

          ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างเด็กก่อนวัยเรียนในโรงเรียนสังกัดสถานศึกษาภาครัฐ และภาคเอกชน ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมบริโภคอาหารระดับดี ร้อยละ 69.0 และ 78.9 ตามลำดับ ทุกคนมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนใหญ่ใช้เวลา 15-30 นาทีต่อครั้ง ร้อยละ 49.3 และ 54.9 ตามลำดับ ด้านโภชนาการพบว่า ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ ส่วนใหญ่มีส่วนสูงตามเกณฑ์ ร้อยละ 71.8 และ 53.5 ตามลำดับ ส่วนน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง ส่วนใหญ่อยู่ในระดับสมส่วน ร้อยละ 77.5 และ 78.9 ตามลำดับ โดยภาวะโภชนาการส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ และน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็กก่อนวัยเรียนในโรงเรียนสังกัดสถานศึกษาภาครัฐกับโรงเรียนสังกัดสถานศึกษาภาคเอกชน ไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ปัจจัยสภาพแวดล้อมบริเวณที่อยู่อาศัย (p = .012) และการปฏิบัติด้านโภชนาการของผู้ดูแลอาหารในครอบครัว (p = .014) สามารถทำนายภาวะโภชนาการน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ไม่พบปัจจัยที่สามารถทำนายส่วนสูงตามเกณฑ์อายุได้ ดังนั้นควรส่งเสริมการปฏิบัติด้านโภชนาการที่ถูกต้องให้กับผู้ดูแลอาหารในครอบครัว  

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-07-2020