ผลของการจัดท่าศีรษะสูงร่วมกับการประคบร้อนต่อความเจ็บปวดและ ระยะเวลาของระยะปากมดลูกเปิดเร็วในผู้คลอดครรภ์แรก Effects of Fowler’s Position with Warm Compression on Pain and Duration of Active Phase in Primiparous Parturients

ผู้แต่ง

  • สุนิดา ชัยติกุล
  • พีรนันท์ วิศาลสกุลวงษ์

คำสำคัญ:

การจัดท่าศีรษะสูง, การประคบร้อน, ระยะปากมดลูกเปิดเร็ว, ผู้คลอดครรภ์แรก

บทคัดย่อ

การวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของการจัดท่าศีรษะสูงร่วมกับการประคบร้อนต่อความเจ็บปวดและระยะเวลาของระยะปากมดลูกเปิดเร็วในผู้คลอดครรภ์แรกกับการพยาบาลตามปกติ ทำการศึกษาผู้คลอดที่คลอดบุตรคนแรกที่ห้องคลอดโรงพยาบาลตากสิน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จำนวน 66 ราย แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มทดลอง 33 ราย ซึ่งได้รับการการจัดท่าศีรษะสูงร่วมกับการประคบร้อน  ส่วนกลุ่มควบคุม 33 ราย เป็นกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการคลอดและแบบประเมินความเจ็บปวด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย พิสัยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Chi square เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวดและระยะเวลาของระยะปากมดลูกเปิดเร็ว ระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองโดยใช้สถิติ Independent t-test

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวดในระยะปากมดลูกเปิดเร็วน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 9.22 , p < 0.05) และมีค่าเฉลี่ยระยะเวลาของระยะปากมดลูกเปิดเร็วน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 3.87, p < 0.05) จากผลการศึกษานี้ การจัดท่าศีรษะสูงร่วมกับการประคบร้อน เป็นวิธีที่ช่วยลดความเจ็บปวดและลดระยะเวลาของระยะปากมดลูกเปิดเร็ว ซึ่งพยาบาลห้องคลอดสามารถนำผลการวิจัยไปพัฒนาแนวทางการดูแลผู้คลอดในระยะปากมดลูกเปิดเร็วได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-09-29