การรับรู้ความเจ็บป่วยของผู้ป่วยนิ่วในไตที่กลับเป็นซ้ำและมีโรคไตเรื้อรัง Illness perception of patient with recurrent renal stone and chronic kidney disease

ผู้แต่ง

  • ยุพิน ปักกะสังข์
  • นงลักษณ์ เมธากาญจนศักดิ์
  • อัมพรพรรณ ธีรานุตร

คำสำคัญ:

การรับรู้ความเจ็บป่วย นิ่วในไต ไตเรื้อรัง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้ความเจ็บป่วย ผู้ป่วยนิ่วในไตที่กลับเป็นซ้ำและมีภาวะไตเรื้อรัง ที่เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 12 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 -30 เมษายน 2560 โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก การบันทึกเทปและการบันทึกข้อมูลภาคสนาม วิเคราะห์ข้อมูล ด้วยวิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยนิ่วในไตที่กลับเป็นซ้ำและมีภาวะไตเรื้อรัง มีการรับรู้เอกลักษณ์ของโรคไตเรื้อรังแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ  1) ไตฝ่อ หรือไตเสื่อม (ไตทำงานน้อยลง)   2)ไตวาย (ไตบ่เฮ็ดงาน:ไตไม่ทำงาน) การรับรู้สาเหตุของการเกิดโรคไตเรื้อรังคือ 1) เป็นนำแนว พ่อแม่ให้มา (กรรมพันธุ์) 2) ย้อนเจ้าของ (เกิดจากตนเอง) เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดส่งเสริมให้เกิดนิ่วไตและเป็นผลให้เป็นโรคไตเรื้อรัง    การรับรู้ขอบเขตเวลาของความเจ็บป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง แบ่งได้เป็น 1)  เป็นปุ้บปั้บ บ่ทันตั้งโต (เฉียบพลัน)  2) เป็นโดน(นาน)เรื้อรัง เป็นแล้วเป็นอีก (กลับเป็นซ้ำได้)  การรับรู้ผลที่เกิดตามมา คือ 1) เป็นธรรมดา (ปกติดี) 2) มีผลกระทบทางด้านร่างกายคือ ทำให้ไตวายแล้วกะตายอย่างเดียว (ตายอย่างเดียว) ผลกระทบด้านจิตใจคือ ย่านตาย (กลัวตาย)   และการรับรู้ว่าโรคไตเรื้อรังสามารถรักษาและควบคุมได้ แบ่งเป็น 1) รักษาได้อยู่ (สามารถรักษาได้) และ 2) รักษาบ่เซา (ถึงรักษาแต่ก็อาจเป็นมากขึ้นและเสียชีวิตได้) เพราะถ้ายังเป็นนิ่วแบบเป็นแล้วเป็นอีก ไตก็จะวายได้เหมือนเดิม      ถ้าได้เป็นไตวายแล้วมีแต่จะเสื่อมไปเรื่อย ๆ ต้องฟอกไต และสุดท้ายก็ตาย

จากการศึกษาครั้งนี้ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจถึงการรับรู้ของผู้ป่วยนิ่วในไตที่กลับเป็นซ้ำและมีโรคไตเรื้อรังในด้านต่าง ๆ ผู้วิจัยจะได้นำความรู้นี้ไปพัฒนาการให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดการรับรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำและชะลอความเสื่อมของไตไม่ให้ผู้ป่วยดำเนินไปสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-03-29