การพัฒนารูปแบบการสื่อสารทางการพยาบาลแบบไร้รอยต่อโดยใช้เทคนิค SBAR ในระยะเปลี่ยนผ่านการดูแล งานผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา Development of a Seamless Nursing Communication Model Using SBAR Techniques during Transitional Care Period, Emergency Nursing Division, Maharat Nakhon Ratchasima Hospital

ผู้แต่ง

  • รัชนี ศิริวัฒน์
  • นิตยา โรจน์ทินกร
  • สุรัตน์ คร่ำสุข
  • จิราพร พอกพูนทรัพย์
  • จันทร์ทิรา เจียรณัย

คำสำคัญ:

รูปแบบการสื่อสารทางการพยาบาลแบบไร้รอยต่อ เทคนิค SBAR ระยะเปลี่ยนผ่านการดูแล, การพยาบาลอุบัติเหตุและฉุกเฉิน

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการสื่อสารทางการพยาบาลแบบไร้รอยต่อโดยใช้เทคนิค SBARในระยะเปลี่ยนผ่านการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน 2) ศึกษาผลของการนำรูปแบบการสื่อสารไปใช้ต่อคุณภาพการสื่อสารทางการพยาบาลและระยะเวลาที่ใช้ในการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยดำเนินการในงานผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา  ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 – เมษายน พ.ศ. 2561 ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วยพยาบาลวิชาชีพงานการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน จำนวน 51 ท่าน ผู้ป่วยที่พยาบาลทีมบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้การช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ แล้วนำส่งห้องฉุกเฉินจำนวน 436 ราย เก็บข้อมูลด้วย 1) รูปแบบการสื่อสาร ฯ ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น 2)แบบบันทึกการสื่อสารแบบ SBAR 3) ประเมินคุณภาพการสื่อสารตามหลัก 4 Cs 4) แบบบันทึกระยะเวลาในการสื่อสาร 5) แบบประเมินความพึงพอใจและ 6)การสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา Chi-square และ independent t-test และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่าคุณภาพของการสื่อสารทางการพยาบาลดีขึ้นกว่าก่อนใช้รูปแบบ ฯโดยเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพการสื่อสารพบว่า มีความถูกต้อง (Correct) และกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ(Concise) ก่อนและหลังนำรูปแบบไปใช้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (χ2= 22.77และ41.64, p < .001)ตามลำดับ ส่วนความสมบูรณ์ครบถ้วน(Complete)และความชัดเจน (Clear)ก่อนและหลังนำรูปแบบไปใช้มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (χ2 = 1.75และ1.15, p > .05) ตามลำดับ และใช้เวลาในการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยเฉลี่ย 3.5 นาที/ราย (ก่อนใช้ 6.1 นาที/ราย)ลดลง 2.56 นาที/ราย ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 29.87, p < .001) และความพึงพอใจของผู้ใช้รูปแบบอยู่ในระดับสูง (Mean = 32.63, SD = 3.75)

รูปแบบการสื่อสารแบบไร้รอยต่อที่พัฒนาขึ้นเป็นนวัตกรรมมีประสิทธิภาพ ที่เน้นผลลัพธ์เชิงระบบ โดยเป็นระบบงานที่ทำงานร่วมกันภายในงานผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน สามารถทำให้มีการส่งข้อมูลผู้ป่วยที่มีคุณภาพในระยะเปลี่ยนผ่านการดูแลแบบไร้รอยต่อ อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการส่งข้อมูลผู้ป่วย สามารถขยายผลไปใช้ในการสื่อสารในทุก ๆ หน่วยงานของโรงพยาบาล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-03-29